“ถ้าอากาศเปลี่ยน เสียงของขิม ก็จะเปลี่ยน เราก็เลยต้องเทียบเสียงให้นักศึกษาอยู่เป็นประจำ..” สุพีนา อินทรีย์ แอดเลอร์ อาจารย์พิเศษและหัวหน้าแผนกดนตรีไทย ภาควิชามานุษยวิทยาการดนตรี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส หรือ UCLA เล่าให้วีโอเอ ไทย เกี่ยวกับความรับผิดชอบสำคัญ ในการทำหน้าที่เป็น ‘ภัณฑารักษ์’ คอยดูแล และรักษาเครื่องดนตรี ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณท์เครื่องดนตรี (ethnomusicology archive) ที่มหาวิทยาลัย UCLA
สุพีนา บอกว่า การเข้ามาดูแลเครื่องดนตรีไทย คืองานแรกของเธอตั้งช่วงแรกที่ได้ก้าวเข้ามาในรั้ว UCLA
“ก่อนก็คือมาเป็นผู้ซ่อมเครื่องนะคะเป็นผู้ซ่อมเครื่องดนตรีไทยเพราะว่าเครื่องที่เราเห็นอยู่เนี่ยค่ะมาตั้งแต่ปี 1958 แล้วก็ 1960 นะคะ ก็คือเป็นช่วงที่อาจารย์ David Morton นะคะซื้อเครื่องดนตรีไทยมาจากที่เมืองไทยแล้วก็มาเริ่มก่อตั้งวงดนตรีไทยที่นี่แล้วอาจารย์เขาก็สอนมาประมาณ 30- 40 ปีแล้วก็เลิกสอนไปนะคะก็คือหมดช่วงหมดวาระไปแล้ว..”
‘ศาสตราจารย์ เดวิด มอร์ตัน’ (David Morton) คือ นักวิชาการชาวอเมริกันที่หลงไหลในศาสตร์แห่งดนตรีไทย เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปฝากตัวเป็นศิษย์ กับบรมครูทางดนตรี แห่ง ‘สำนักดนตรีไทยบ้านบาตร’ ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือ ศร ศิลปะบรรเลง ผู้เป็นต้นตำนาน ‘จางวางศร’ มือระนาดเอกแห่งโหมโรง ที่โด่งดัง ก่อนจะนำความรู้ พร้อมกับชุดเครื่องดนตรีไทยปี่พาทย์จาก ‘บ้านบาตร’ นำกลับมาสร้างหลักสูตรถ่ายทอดและเปิดการสอนวิชาดนตรีจากแดนสยาม ที่ยูซีแอลเอ เมื่อราว 60 ปีก่อน
สุพีนา เล่าว่า การพบเครื่องดนตรีไทยที่มีความเชื่อมโยงกับมรดกแห่งบรมครูที่สำคัญทำให้เธอตัดสินใจอยากจะสานต่อการเรียนการสอนที่ขาดหายไปอีกครั้ง
“..ก็ปรากฏว่าเครื่องดนตรี ไม่ได้ไม่ได้ใช้งานนะคะ แล้วก็ไม่ได้รับการบำรุงอย่างดีนะคะ พอเชอร์รี่ (สุพีนา) ได้มามีโอกาสได้มาชมเครื่องดนตรีเมื่อตอนปี ค.ศ.2014 หลังจากที่ดูเครื่องเสร็จแล้วก็ได้เขียน proposal (แบบเสนอแผนงสน) มาที่มหาวิทยาลัยว่าเราสามารถที่จะดูแลเครื่องให้ได้นะ เสร็จแล้วก็ (propose) ยื่นข้อเสนอ ที่ภาควิชาว่าถ้าคุณสนใจ ที่จะทำวงดนตรีก็เราสามารถที่จะสอนได้เพราะว่าก็มีความสามารถในการที่จะสอนวงได้อยู่นะคะ ทางมหาวิทยาลัยก็เห็นว่าควรจะสนับสนุน”
ความรู้ทางด้านดนตรีไทยที่อาจารย์สุพีนา ร่ำเรียนระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิชาเอกดนตรีไทยสาขาวิชาปฏิบัติ และปริญญาโท ด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เมืองไทย ก่อนจะเดินทางมาสำเร็จปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาการดนตรี ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซท์ (University of California, Riverside) คือใบเบิกทางทางวิชาการที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน โอกาสของการได้ทำหน้าที่สืบสานลมหายใจให้ดนตรีไทย ได้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตชีวาในหลักสูตรมานุษยวิทยาการดนตรี อีกครั้งคือความท้าทายที่เธอคาดหวัง
“..ทางมหาวิทยาลัย UCLA ก็ให้โจทย์มาว่า ปีละ $20,000 ก็คือถ้าคุณหาทุนมาได้ $20,000 ก็เราสามารถที่จะช่วยเพื่อที่จะให้เปิดคลาสได้นะคะ ก็ค่อนข้างค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกันเพราะว่าเราจะต้องเขียนหนังสือขอขอทุนจากหลายหน่วยงานแล้วก็จะต้องไปเสนองานให้เขาเห็นว่าเรามีเครื่องนะ เรามีส่วนนี้คือความตั้งใจที่เราอยากทำนะแต่ว่ามันยังไม่มีทุนทรัพย์เพื่อที่จะ start up เราก็พยายามที่จะให้ความหวังกับกับผู้ให้ทุนทุกท่านว่าเราสามารถทำให้มันโตได้นะคะ อันนี้คือความ challenge ที่สุดก็เวลาเด็กมาสมัครเรียนเนี่ยเราก็ไม่รู้ว่าจะมีกี่คน บางเทอมก็เยอะมาก 30-40 คนบางเทอมก็ 8 คนทำไงดีวะ ก็จะพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ในทุกภาคส่วนที่เราทำได้..” หัวหน้าแผนกดนตรีไทย ที่ UCLA บอกกับ ‘วีโอเอ ไทย’
จนถึงวันนีอาจารย์เชอร์รี่ เปิดสอนหลักสูตรดนตรีไทยมาแล้วกว่า 7 ปี และยังพยายามถ่ายทอดภูมิความรู้ทางดนตรี และนาฏศิลป์ไทย ที่สร้างความประทับใจให้นักศึกษาที่สนใจ ในแต่ละภาคเรียน
““เสียงของดนตรีไทยที่มาอยู่ต่างประเทศเนี่ยมันยังทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเมืองไทยอยู่นะคะก็คือเหมือนกับคิดถึงบ้านก็เหมือนกับ เราอยากจะทานข้าวหรือว่าอาหารที่เราคุ้นชินอย่างนี้ค่ะดนตรีก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกันเมื่อเราได้เล่น ได้ฟังหรือว่าได้เห็นหรือได้สนับสนุนคนให้เล่นหรือฟังนะคะก็มีความสุขเพราะว่าคิดถึงตอนที่เราเคยมีความสุขในการได้เรียนได้ปฏิบัติในช่วงที่เราอยู่ที่เมืองไทย..” สุพีนา บอกถึงความมุ่งมั่น และความสุขของการได้ทำในสิ่งที่เธอรักผ่านการทำงานที่ได้เติมความฝัน และความท้าทายในทุกๆวัน
เจเรเมียห์ วีร่า เมอร์ฟี่ (Jeremiah Vela-Murphy) นักศึกษา UCLA ที่ลงเรียนหลักสูตรดนตรีไทย บอกว่า การเรียนกับครูSupeena ทำให้ทุกอย่างง่ายมากขึ้นในการเรียนดนตรีที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน ขณะเดียวกันครูก็ให้การต้อนรับทุกคนอย่างอบอุ่น และดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนี้
ชนาพร โต๊ะสุวรรณวณิช นักศึกษาไทยที่ UCLA บอกว่าประทับใจในการเรียนดนตรีไทย
“หนูรู้สึกว่า อาจารย์เป็นอาจารย์ที่ใส่ใจมากๆ เลยนะคะ กับรายละเอียดและก็แบบช่วยใช้เวลากับนักเรียนแต่ละคน ทำให้นักเรียนแต่ละคนสามารถพัฒนาไปในทางที่เค้าต้องการได้
เธอบอกด้วยว่า รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ดีมากๆ และก็โชคดีมากๆ ทีมีอาจารย์ท่านนี้แบบคอยช่วยไกด์ไลน์และคอยช่วยสอนเครื่องดนตรีต่างๆ ให้พวกเรา เพราะว่าอาจารย์ เป็นคนที่มีความรู้มากๆในหลายๆเครื่องดนตรี แล้วอาจารย์สามารถเล่นได้เกือบทั้งหมดเลย”
ด้าน เจตน์ อรุณแสงโรจน์ นักศึกษาไทยที่ UCLA กล่าวถึงหลักสูตรมรดกดนตรีไทยที่เขาได้ร่ำเรียนในภาคเรียนนี้
“รู้สึกขอบคุณคุณครูมากครับที่ได้เปิดคลาสนี้ให้พวกผมนักเรียนคนไทยได้มารวมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน เพราะก่อนตอนแรก คลาสนี้ ปกติจะไม่เปิดให้พวกเรา แต่พวกผมได้รวมตัวกัน ไปขออาจารย์ เพื่อเปิดช่วงเวลานี้ให้พวกผม ก็เลยรู้สึกขอบคุณอาจารย์มากครับ"
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิสถือเป็นสถานบันอุดมศึกษาแห่งแรกในสหรัฐฯ ที่เปิดสอนภาควิชามนุษยดนตรีวิทยา เมื่อปีพุทธศักราช 2503 หรือ ค.ศ.1960 โดยมุ่งหวังการให้นักศึกษาสามารถเข้าใจวัฒนธรรมทางดนตรีของที่หลากหลายของแต่ละประเทศ อย่างลึกซึ้งนอกเหนือจากวัฒนธรรมดนตรีขที่ตนเองคุ้นเคย