สหรัฐฯ แสดงความมั่นใจในแผนของญี่ปุ่นว่าด้วยการทิ้งน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะที่เกาหลีใต้แสดงความกังวลและต่อต้านแผนที่ว่านี้
นายจอห์น แคร์รี ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ด้านสภาพภูมิอากาศโลก หารือเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ ชุง อุย-ยง ที่กรุงโซล เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
กระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ มีแถลงการณ์ว่า รัฐมนตรีชุง อุย-ยง ได้แสดงความกังวลต่อแผนดังกล่าวของญี่ปุ่น และขอให้สหรัฐฯ ให้ความร่วมมือเพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแผนนี้อย่างโปร่งใสและรวดเร็วที่สุด
แต่นายแคร์รีแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ แสดงความมั่นใจถึงความโปร่งใสของรัฐบาลกรุงโตเกียวในเรื่องนี้ และเชื่อว่าญี่ปุ่นจะดำเนินการภายใต้การปรึกษากับสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อย่างเคร่งครัด
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันจะจับตามองญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีครั้งนี้จะไม่ส่งผลคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
เมื่อวันอังคารที่แล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูกะ ประกาศว่า รัฐบาลของตนได้อนุมัติแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าจำนวน 1.3 ล้านตัน ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป หลังจากที่ถังเก็บน้ำปนเปื้อนดังกล่าวเต็มความจุ
โดยนายกฯ ญี่ปุ่น ยืนยันว่าข้อเสนอนี้เป็นสิ่งที่ “ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ภายใต้โครงการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิเมื่อ 10 ก่อน
กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้เรียกตัวทูตญี่ปุ่นประจำเกาหลีใต้ โคอิจิ ไอโบชิ เข้าพบเพื่อรับฟังคำประท้วงอย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ต่อการตัดสินใจดังกล่าวของญี่ปุ่น โดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน แสดงความกังวลว่า ทั้งสองประเทศมีอาณาเขตติดกันและใช้มหาสมุทรร่วมกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อเกาหลีใต้ด้วย
ประธานาธิบดีมูนยังได้มอบหมายให้คณะรัฐมนตรีทบทวนว่า สมควรยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทางทะเลมีคำตัดสินในเรื่องนี้หรือไม่
นอกจากประเด็นเรื่องน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีแล้ว นายแคร์รีและรัฐมนตรีชุง ยังได้ตกลงร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายในปี ค.ศ. 2050
นายแคร์รียังมีกำหนดการเยือนจีนในสัปดาห์นี้ ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะร่วมประชุมทางไกลกับบรรดาผู้นำโลก เพื่อหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระหว่างวันที่ 22-23 เมษายนนี้