หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน คือ การจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีการแต่งตั้ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จอห์น แคร์รี เข้ารับตำแหน่งทูตพิเศษด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ
และในสัปดาห์นี้ จอห์น แคร์รี กำลังอยู่ในช่วงการเดินทางเยือนเอเชียอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังได้รับตำแหน่งมาตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม โดยมีจุดประสงค์ที่จะเชิญชวนนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และจีนด้วย ให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน
แคร์รี ให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าว ซีเอ็นบีซี หลังเข้าร่วมการประชุม Regional Dialogue for Climate Action ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ใช่การพุ่งเป้าไปยังจีน หรือเป็นการตอบโต้จีน แต่เป็นเรื่องที่ สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซดังกล่าวมากที่สุดในโลก ต้องหันมาใส่ใจ
ภายหลังการประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา แคร์รี เดินทางต่อไปยังอินเดียเป็นเวลา 4 วันก่อนจะเยือนบังคลาเทศต่อไป โดยทั้งสองจุดหมายนี้ เป็นไปตามแผนงานของรัฐบาลปธน.ไบเดน ที่เน้นการเชิญชวนประชาคมโลกให้มุ่งจัดการเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง
ในระหว่างการเยือนกรุงนิวเดลี แคร์รี ได้เข้าพบ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย และสัญญาว่า สหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนแผนงานจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศของอินเดีย ด้วยการอำนวยความสะดวกการเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความช่วยเหลือด้านการเงินต่างๆ ตามรายงานของสำนักข่าว บลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ อินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในเวลานี้ และรัฐบาลอินเดียกำลังถกเถียงเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวให้เหลือศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 อยู่
ขณะเดียวกัน สื่อ เดอะ ฮินดู รายงานว่า อดีตรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังย้ำว่า “อินเดีย คือประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งในเวทีโลก” และว่า “การลงมือทำการใดๆ อย่างเด็ดขาดของอินเดียจากนี้ไป ภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงนี้ ว่าจะมีผลอย่างไรกับคนรุ่นต่อๆ ไป”
รายงานข่าวระบุว่า แคร์รี ไม่ได้มีกำหนดจะพบกับ เซียะ เจินหัว ตัวแทนรัฐบาลจีนที่ดูแลประเด็นปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ในการเดินทางเยือนเอเชียครั้งนี้ แม้ว่าทั้งคู่จะคุ้นเคยกันดีก็ตาม
เป็นที่รับรู้กันว่า เซียะ คือ บุคคลที่มีความสำคัญในรัฐบาลกรุงปักกิ่ง สำหรับแผนงานกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ได้ภายปี ค.ศ. 2060 และเป็นหัวหน้าทีมเจรจาความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 200 ประเทศ โดยมีผู้ให้ความเห็นว่า ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง เซียะ และ ทอดด์ สเติร์น หัวหน้าทีมเจรจาของสหรัฐฯ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความตกลงนี้ได้ข้อสรุปเมื่อปลายปี ค.ศ. 2015 ตามรายงานของ รอยเตอร์ส
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เซียะ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของจีน โดยจะอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 2 ปี ซึ่ง บลูมเบิร์ก ระบุว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนที่จะทำงานและสื่อสารกับรัฐบาลปธน.ไบเดน ในประเด็นนี้อย่างเต็มที่
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ และจีน คือประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังร่วมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 43 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาทั่วโลกด้วย
รื้อฟื้นความสัมพันธ์
เจนนิเฟอร์ เทอร์เนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ Wilson Center China Environment Forum บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า ในเวลานี้ มีความพยายามจากหลายส่วนในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากช่วงเวลาตึงเครียดที่เต็มไปด้วยการเผชิญหน้าเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ ขณะที่ เจน นาคาโน่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จาก ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติ (Center for Strategic & International Studies - CSIS) เชื่อว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงคือ ประเด็นที่สหรัฐฯ และจีน น่าจะร่วมมือกันได้ดีและเดินหน้าต่อไปได้ แม้ว่าทั้งคู่จะมีปัญหาเรื่องการค้า สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยี ที่ยังค้างคาอยู่
ปธน.ไบเดน ประกาศให้การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นนโยบายหลักที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า ประเด็นนี้ คือ “ปัญหาอันดับหนึ่งของมนุษยชาติ” ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง และหลังเข้ารับตำแหน่งแล้ว ยังได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับหนึ่งที่เร่งการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากปัญหานี้ด้วย
รายงานข่าวระบุว่า ปธน.ไบเดน วางแผนจัดการชุมนุมสุดยอดผู้นำโลก ผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 22 และ 23 เมษายน เพื่อหารือประเด็นเร่งด่วน และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยหวังที่จะช่วยผลักดันให้มีความคืบหน้าใน การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่จะเกิดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
อุปสรรคของการเข้าเป็นหุ้นส่วนแก้ปัญหาโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนและการค้าระหว่างสองมหาอำนาจนั้น ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ดี
คาร์สเตน วาลา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย โลโยลา แมรีแลนด์ บอกกับผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า “จีนและสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขัน การวิพากษ์วิจารณ์ และการชิงดีชิงเด่น อย่างเปิดเผยมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านการทูต ด้านเทคโนโลยี หรือกระทั่งการทหาร ซึ่งทำให้การหันมาร่วมมือกันนั้นเป็นไปได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ”
นอกจากนั้น วาลา ยังชี้ว่า การทีจีนพยายามดำเนินนโยบายเชิงรุกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้นำจีนนั้น “ไม่น่าจะยินยอมประนีประนอม” เท่าใดนัก
เจนนิเฟอร์ เทอร์เนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ Wilson Center China Environment Forum เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และกล่าวว่า รัฐบาลทั้งสองประเทศ กำลังเผชิญหน้ากับความเห็นต่างที่ขัดแย้งหนัก ทั้งด้านการค้าและสิทธิมนุษยชน และด้านอื่นๆ อยู่ ทำให้ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองเหลือพอสำหรับงานด้านการทูตและการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป