Your browser doesn’t support HTML5
รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เมื่อ 11 ปีที่แล้ว Jesse Ausubel นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวว่า ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกเสียงของมหาสมุทรไว้ได้ในช่วงก่อนที่จะมีเรือต่าง ๆ แล่นผ่านไปมา พวกเขาคงจะได้ฟังเสียงสนทนาระหว่างปลาวาฬสีน้ำเงินที่อยู่ห่างกันหลายร้อยไมล์ ฟังเสียงนกร้อง และสามารถบันทึกเสียงสื่อสารท่ามกลางฝูงปลาโลมาโดยปราศจากเสียอื้ออึงจากมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าเสียงอึกทึกใต้ทะเลนั้นมีผลกระทบต่อชีวิตในท้องทะเลอย่างไร
แม้ว่าฟังดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ราว 100 คนที่เห็นด้วยกับวิสัยทัศน์เรืองนี้ และในปีพ.ศ. 2558 นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้จัดทำแผนการทดลองเรื่องความเงียบสงบของมหาสมุทร หรือ International Quiet Ocean Experiment
อย่างไรก็ตาม การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงตั้งแต่เดือนมีนาคม ไม่มีเรือสำราญและเรือบรรทุกน้ำมันสัญจรไปมาในมหาสมุทรหรือมีน้อยลงมาก ดังนั้นเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วนักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมอุปกรณ์ฟังเสียงใต้น้ำจากสถานีต่าง ๆ 130 แห่งทั่วโลก รวมทั้งสถานีทดลองฟังเสียงนิวเคลียร์อีก 6 สถานีด้วย
Peter Tyack ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมจากมหาวิทยาลัย St. Andrews ประเทศสกอตแลนด์ กล่าวว่า การบันทึกเสียงนั้นจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ยินเสียงมหาสมุทรอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เสมือนกับการมองท้องฟ้าในยามค่ำคืนตอนที่ไม่มีแสงไฟ
เขากล่าวด้วยว่า งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าปลาวาฬขนาดใหญ่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยการเพิ่มระดับเสียงของพวกมัน เขาคาดว่าสัตว์ทะเลหลายๆชนิดได้ย้ายไปยังส่วนที่เงียบสงบของโลกเพื่อให้สามารถหาอาหารและมองหาพรรคพวกได้ง่ายขึ้น
โครงการนี้มุ่งศึกษามหาสมุทรในระดับที่เรียกว่า SOFAR ซึ่งเป็นแถบน้ำที่ลึกลงไปราวหนึ่งกิโลเมตรซึ่งเสียงสามารถเดินทางได้ในระยะทางไกล และเป็นสถานที่ที่ปลาวาฬขนาดใหญ่และปลาวาฬครีบส่งเสียงหากัน แต่ก็เป็นที่ที่มีเสียงอึกทึกครึกโครมจากเรือประมง เรือบรรทุกน้ำมัน และเรือยนต์ นอกจากนี้ยังมีเสียงจากแท่นขุดเจาะน้ำมันและกังหันลม ซึ่งถูกส่งกระจายไปทั่วโลกผ่านทางชั้นมหาสมุทรดังกล่าวนี้
อย่างไรก็ดี คลื่นเสียงเดินทางในน้ำได้ไกลและเร็วกว่าในอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงของปลาวาฬ เสียงบดเพลาของเรือ หรือแม้แต่เสียงของระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งสามารถเดินทางได้หลายร้อยหรือหลายพันไมล์รอบโลก
ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาว่าปลาวาฬและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ จะสามารถปรับตัวเข้ากับมหาสมุทรที่เงียบลงได้โดยการลดเสียงของพวกมัน หรือจะย้ายไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่มีการเดินเรือ
และในปีหน้า คณะนักวิจัยที่นำโดย Peter Tyack จะเผยแพร่ผลการวิเคราะห์อย่างเต็มรูปแบบว่าการลดเสียงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ทะเลอื่น ๆ ได้อย่างไร