งานวิจัยชิ้นใหม่ที่จัดทำโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ใช้การทดลองกับหนูเพื่อตรวจดูลักษณะการรวมกลุ่มทางสังคมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ และพบว่าการที่ใครสักคนจะยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังเดือดร้อน อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางชีวภาพมากกว่าทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจส่งผลต่อการแสดงความสงสารเห็นใจของแต่ละคนด้วย
ที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องการเสนอตัวเข้าช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมักมุ่งไปที่เรื่องทัศนคติและจิตใจเป็นหลัก โดยชี้ว่าคนที่อยู่เป็นกลุ่มใหญ่มักไม่ค่อยเสนอตัวช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเมื่อเทียบกับกรณีที่คน ๆ นั้นอยู่เพียงคนเดียว ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า “the bystander effect,” หรือ "อิทธิพลของคนมุง"
ซึ่งอธิบายได้ว่า เมื่อคนเราอยู่ในกลุ่มใหญ่มัก 'กระจายความรับผิดชอบ' ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ทุกคนในกลุ่มนั้น ทำให้แต่ละคนรู้สึกว่ามีความรับผิดชอบส่วนตัวน้อยลงในเรื่องนั้น หรืองานชิ้นนั้น
แต่งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Journal of Science Advances เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าหนูทดลองตัดสินใจทำกิจกรรมที่ถูกกำหนดไว้โดยใช้ 'สัญชาติญาณ' เพียงอย่างเดียว
นักวิจัยบอกว่า ปกติแล้วหนูเป็นสัตว์ที่มักจะเข้าช่วยทันทีเมื่อหนูตัวอื่นเดือดร้อน เช่น ติดในกับดัก และยังเข้าช่วยหนูแปลกหน้าที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกตื่นเต้นหรือเครียดกังวลภายในเมื่อเห็นหนูตัวอื่นตกอยู่ในอันตราย
นักชีววิทยาด้านประสาท เพกกี เมสัน ผู้นำคณะนักวิจัยชุดนี้ อธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็กในการควบคุมหนูทดลอง จากนั้นสร้างกลุ่มหนูขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เรียกว่า "ผู้เห็นเหตุการณ์" หรือ หนูมุง โดยหนูทดลองกลุ่มนี้จะได้รับยาต้านความวิตกกังวล คล้ายกับยาแวเลียมที่ใช้กับมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าหนูกลุ่มนี้จะไม่เข้าช่วยหนูที่กำลังตกอยู่ในอันตรายหรือกำลังเดือดร้อน ซึ่งในกรณีนี้คือติดอยู่ในกับดักและออกไปเองไม่ได้ จุดประสงค์เพื่อทดสอบว่าหนูที่ไม่ได้รับยาที่ว่านี้จะพุ่งเช้าไปช่วยหนูที่กำลังเดือดร้อนนั้นหรือไม่
ผลของการทดลองพบว่า เมื่อหนูกลุ่มที่ถูกกำหนดให้เป็น "หนูมุง" นั้นไม่เสนอตัวเข้าช่วยหนูที่เดือดร้อน หนูที่ไม่ได้รับยาต้านความวิตกกังวลก็มีโอกาสน้อยลงตามไปด้วยที่จะเข้าไปช่วยหนูที่ติดกับดักนั้น แตกต่างกับในช่วงที่หนูทดลองตัวนั้นอยู่เพียงตัวเดียว ซึ่งจะเสนอตัวเข้าไปช่วยหนูที่ติดกับดักเกือบทุกครั้ง
คุณเมสันกล่าวว่า เมื่ออยู่ในกลุ่มใหญ่ หนูตัวใดตัวหนึ่งมักไม่แสดงการตอบสนองเมื่อเจอกับหนูที่เดือดร้อน ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเมื่อหนูตัวนั้นถูกแยกออกจากกลุ่ม โดยยิ่งมีจำนวนหนูในกลุ่มมากเท่าไร การเสนอตัวเข้าช่วยเหลือก็ยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้าม หากหนูส่วนใหญ่ในกลุ่มแสดงออกว่าต้องการที่จะช่วย หนูแต่ละตัวก็มีแนวโน้มที่จะเข้าช่วยเหลือหนูติดกับดักนั้นเช่นกัน
นักชีววิทยาผู้นี้บอกว่า ผลการทดลองนี้ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคล้ายกันในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงมนุษย์ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการตอบสนองเช่นนี้เกิดจากสัญชาติญาณที่เกิดจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียนหรือวัฒนธรรมใด ๆ
เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นครมินนีแอโปลิสเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พฤติกรรมของหนูทดลองดังกล่าวอาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมตำรวจหลายคนจึงยืนนิ่งไม่ทำอะไร เมื่อเพื่อนตำรวจอีกคนหนึ่งใช้เข่ากดไปที่คอของ จอร์จ ฟลอยด์ จนเสียชีวิต และนำไปสู่การประท้วงใหญ่ในอเมริกาและหลายประเทศในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
(เรียบเรียงจากรายงานของ VOA และ NPR)