การวิจัยชี้ฉลามออสเตรเลียมีจำนวนลดลงอย่างมาก

Swimmers walk into the surf next to a sign declaring a shark sighting on Sydney's Manly Beach, Australia, Nov. 24, 2015.

Your browser doesn’t support HTML5

Australia Sharks

รายงานการศึกษาวิจัยฉบับใหม่ เรียกร้องให้มีการป้องกันที่ดีขึ้นสำหรับฉลามสายพันธุ์ที่ถูกคุกคามในน่านน้ำออสเตรเลีย เนื่องจากตัวเลขฉลามบางสายพันธุ์ตามชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศมีจำนวนลดลงกว่า 90% ในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา

ออสเตรเลียมีฉลามประมาณ 170 สายพันธุ์จากประมาณ 440 สายพันธุ์ทั่วโลก ฉลามพยาบาลสีขาวและสีเทาตัวใหญ่ถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคามในน่านน้ำออสเตรเลีย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากโปรแกรมการควบคุมปลาฉลามเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของประชากรในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีการใช้ตาข่ายและตะขอเกี่ยวเหยื่อล่อฉลามในควีนส์แลนด์เพื่อช่วยให้บรรดานักว่ายน้ำและนักเล่นกระดานโต้คลื่นลดความเสี่ยงต่อการถูกฉลามโจมตี

คณะนักวิจัยได้พิจารณาจำนวนฉลามขาว ฉลามเสือ ฉลามหัวฆ้อน และฉลามวาฬที่จับได้ระหว่างช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 จนถึงปีค.ศ. 2016

George Roff จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนรายงานการวิจัยฉบับนี้กล่าวว่าสิ่งที่พวกเขาค้นพบเป็นเรื่องที่น่าตกใจ

เขากล่าวว่า สิ่งที่นักวิจัยค้นพบในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คือ ฉลามซึ่งอยู่ที่ส่วนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารตามชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ฉลามที่อยู่ตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงระหว่าง 74 ถึง 92 เปอร์เซ็นต์ และในขณะเดียวกันฉลามยังมีขนาดเล็กลงอีกด้วย ดังนั้นตามชายฝั่งควีนส์แลนด์จึงมีฉลามตัวเล็กลง และน้อยลงกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงปลาฉลามหัวฆ้อน ซึ่งใกล้จะสูญพันธุ์ทั่วโลก ก็มีจำนวนลดลง 92 เปอร์เซนต์

และที่สำคัญฉลามขาวซึ่งถูกระบุว่ามีความเสี่ยงสูง ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัว แม้ว่าจะมีการป้องกันต่างๆ ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อยุติการจับปลาฉลามก็ตาม

นักวิจัยกล่าวโทษว่าการจับปลามากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาฉลามหัวฆ้อนและปลาฉลามขาวยักษ์มีจำนวนลดลงอย่างฉับพลัน จำนวนที่ลดลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสภาพโดยรวมของมหาสมุทรก็แย่ลงด้วย และว่าควรจะมีการป้องกันฉลามบางสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ยืนกรานว่า แม้ว่าจะมีปัจจัยต่างๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งมีผลกระทบต่อจำนวนปลาฉลาม แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายถึงระดับของการลดลงได้

เมืองต่างๆ ในออสเตรเลียได้พยายามหาแนวทางในการลดความเสี่ยงต่อการถูกฉลามโจมตี เจ้าหน้าที่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ สนับสนุนวิธีการที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการยับยั้งและตรวจจับปลาฉลาม ซึ่งรวมไปถึงโดรนซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการหาตำแหน่งของฉลามที่อยู่ใกล้ๆ กับนักเล่นกระดานโต้คลื่น