จริงอยู่ที่มนุษย์เราอาจมีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้มากกว่าถูกฉลามทำร้าย แต่ข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว ยังพบรายงานการเผชิญหน้าระหว่างมนุษย์และฉลามมากถึง 150 ครั้งทีเดียว
และเป็นเรื่องที่ทางออสเตรเลียให้ความสำคัญ จนนำไปสู่การพัฒนาโดรนเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ชายฝั่งตรวจตราว่ามีฉลามเข้าใกล้มนุษย์ในท้องทะเลได
อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน มีบทบาทสำคัญในการป้องกันภัยจากเพชฌฆาตในท้องทะเลของออสเตรเลีย เมื่อทีมวิจัยจากคณะพัฒนาซอฟต์แวร์ ของ University of Technology ในออสเตรเลีย พัฒนาระบบตรวจจับฉลาม ที่ทำงานร่วมกับโดรนขึ้นมา
Nabin Sharma หนึ่งในทีมวิจัย บอกถึงความพิเศษของโปรแกรมดังกล่าวว่า ปกติแล้วการตรวจจับฉลาม ด้วยการถ่ายภาพจากมุมสูง ให้ความแม่นยำในการตรวจจับฉลามเพียง 20-30% แต่การเขียนซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่สามารถแยกแยะมนุษย์ ฉลาม และโลมา ที่แหวกว่ายในท้องทะเลได้ จะมีความแม่นยำมากกว่า 90% ทีเดียว
โดยภายในเดือนกันยายนนี้ ออสเตรเลียนำร่องการใช้โดรน Little Ripper ของบริษัท Power Little Ripper Group ตรวจจับฉลามตามชายหาดของประเทศ และรายงานสถานการณ์ล่าสุดแบบเรียลไทม์เมื่อพบอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในผืนน้ำที่ตรวจสอบ แต่ทางผู้ผลิตโดรนรุ่นนี้ต้องการให้โดรนเป็นมากกว่านั้น
Paul Scully จากบริษัท Power Little Ripper Group บอกว่า นอกจากจะใช้โดรนระบุตำแหน่งของฉลามในทะเลแล้ว อาจเพิ่มอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้ อย่างเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เรือยางเล็ก เครื่องไล่ฉลามด้วยคลื่นไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเครื่องกระตุกหัวใจเพื่อไล่ฉลาม ที่อาจทำร้ายมนุษย์ที่อยู่ใกล้เคียง