นักวิทยาศาสตร์ชี้ควรขยายการสืบหาต้นตอโควิด-19 จากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

Bats from a cave fly over Wat Khao Cong Phran Temple in search of food during dusk in Ratchaburi province, 130 km (81 miles) west of Bangkok, September 14, 2009.

Your browser doesn’t support HTML5

Tracing Covid-19 in Southeast Asia

นักไวรัสวิทยาที่อยู่ในทีมงานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งติดตามสืบหาต้นตอของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ทั้งในไทยและมาเลเซีย เชื่อว่า ควรให้ความสนใจศึกษาค้างคาวและสัตว์พื้นเมืองสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีการลักลอบค้าในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 รวมทั้งอาจเป็นแหล่งที่มาของโรคอุบัติใหม่ชนิดอื่นในอนาคตได้

โดยนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามสืบหาต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า มีหลักฐานข้อมูลมากขึ้นที่บ่งชี้ว่าเราควรขยายขอบเขตการสืบหาจากประเทศจีน ไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น เวียดนาม ลาว เมียนมา และไทย

เมื่อต้นปีที่แล้ว มีการพบเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะทางพันธุกรรมหรือจีโนมคล้ายคลึงกับเชื้อโควิด-19 ถึง 96% ในมณฑลยูนนาน ทางใต้ของประเทศจีน แต่การศึกษาในช่วงหลังจากนั้นก็ทำให้ได้พบไวรัสอีกหลายชนิดที่คล้ายกับเชื้อโควิด-19 เช่นกัน ทั้งในประเทศไทยและในกัมพูชา

ดังนั้น นักไวรัสวิทยาในทีมงานขององค์การอนามัยโลกซึ่งเข้าไปตรวจสอบที่เมืองอู่ฮั่นของจีน จึงแนะว่า เราควรติดตามศึกษาค้างคาวซึ่งมีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์และมีถิ่นที่อยู่กระจายไปในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

SEE ALSO: พบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีก 6 ชนิดในค้างคาวเมียนมา 

คุณปีเตอร์ ดาสซัค นักไวรัสวิทยาผู้หนึ่งในทีมงานขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จะได้พบเชื้อโคโรนาไวรัสในตระกูล SARS มากกว่า 100 ชนิดในค้างคาวพันธ์ุต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนแล้วก็ตาม แต่การศึกษาที่มีอยู่ในเมียนมา ลาว และเวียดนามนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ไม่สามารถพูดได้อย่างแน่ชัดว่าจะไม่พบเชื้อไวรัสชนิดอื่นเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากนั้น ค้างคาวในประเทศเหล่านี้มักจะมีความหลากหลายทางสายพันธุ์มากกว่าที่ได้พบในประเทศจีน ดังนั้นจึงมีโอกาสเช่นกันว่าการศึกษาค้างคาวในกลุ่มประเทศทางใต้ของจีน อาจทำให้ได้พบเชื้อไวรัสที่มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย

SEE ALSO: ลั่นระฆังเกมโฆษณาชวนเชื่อ! หลังอนามัยโลกเสร็จสิ้นภารกิจตรวจหาที่มาโควิด-19 ในจีน

แต่นอกจากค้างคาวแล้ว สัตว์ป่าชนิดอื่นก็อาจเป็นพาหะของเชื้อไวรัสได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากจีนและออสเตรเลียได้รายงานเรื่องการพบไวรัสที่มีความคล้ายคลึงกับเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 ถึงกว่า 90% ในตัวนิ่มพันธุ์มาเลเซียที่ถูกล่าเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อและเกล็ด โดยตัวนิ่มเหล่านี้ถูกลักลอบนำเข้าไปในจีนจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบเชื้อไวรัสที่มีลักษณะคล้ายไวรัส SARS-CoV-2 ในค้างคาวพันธุ์เกือกม้าที่จับได้ในกัมพูชา แต่ถูกแช่แข็งไว้นานถึงกว่า 10 ปี และผลการค้นพบเหล่านี้ก็แสดงว่า เชื้อไวรัสที่มีลักษณะคล้ายหรือใกล้เคียงกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้ป่วยเป็นโรคโควิด-19 นั้นมีการกระจายตัวในแง่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์มากกว่าที่เข้าใจกันแต่แรก

และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดูจะเป็นจุดสำคัญในความพยายามค้นหาต้นตอของไวรัสดังกล่าวด้วย

Researchers set up equipment for catching bats in front of a cave at Sai Yok National Park in Kanchanaburi province, west of Bangkok, Thailand, Friday, July 31, 2020.

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิจัยของไทยได้พบเชื้อไวรัสที่ใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในแหล่งที่อยู่ของค้างคาวไม่ไกลจากกรุงเทพเช่นกัน และขณะนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศกำลังพยายามค้นหาไวรัสที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อ SARS-CoV-2 มากกว่า 96%

ซึ่งจากความหนาแน่นและความหลากหลายของค้างคาวสายพันธุ์ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไวรัสที่จะได้พบเพิ่มเติมในประเทศเหล่านี้อาจจะเป็นต้นตระกูลหรือเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับต้นตระกูลของเชื้อ SARS-CoV-2 ได้

SEE ALSO: อนามัยโลก ยันโควิด-19 ไม่ได้หลุดมาจากห้องทดลอง

คุณปีเตอร์ ดาสซัค นักไวรัสวิทยาและผู้อำนวยการของ EcoHealth Alliance หน่วยงานเอ็นจีโอของสหรัฐฯ ที่ทำงานเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากโรคอุบัติใหม่ที่มาจากสัตว์ บอกว่า ทีมงานของเขาได้เริ่มศึกษาค้างคาวในประเทศลาว เมียนมา และเวียดนามแล้ว ส่วนการทำงานในประเทศไทยกับมาเลเซียนั้นได้เริ่มมาหลายปีเช่นกัน และเขาหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ที่ถูกลักลอบค้าข้ามพรมแดนด้วย

อย่างไรก็ตาม คุณปีเตอร์ ดาสซัค ก็ยอมรับว่า คำตอบที่ว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เริ่มต้นมาจากที่ไหน และกระโดดข้ามสายพันธุ์มาสู่มนุษย์ได้อย่างไรนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายหรือจะหาได้เร็วนัก

แต่ในกระบวนการเพื่อติดตามหาคำตอบเกี่ยวกับต้นตอของเชื้อโควิด-19 นี้ เราอาจได้พบไวรัสจากสัตว์ชนิดอื่นและได้เรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางการแพร่กระจายข้ามสายพันธุ์ ซึ่งก็อาจจะช่วยยับยั้งการระบาดใหญ่ของโรคอุบัติใหม่ครั้งต่อไปได้