เมื่อวันอังคาร คณะเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกเสร็จสิ้นภารกิจการสืบหาที่มาของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวไม่ได้หลุดมาจากห้องปฏิบัติการวิจัยด้านไวรัสในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งจีนได้ใช้โอกาสดังกล่าวเรียกร้องให้มีการสืบหาต้นตอของเชื้อไวรัสนี้ในจุดอื่นของโลก รวมทั้งในสหรัฐฯ ด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปจากคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกที่ว่านี้
โดยเมื่อวันอังคาร คณะทำงานขององค์การอนามัยโลกที่เข้าไปตรวจสอบหาต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน แถลงว่ายังไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แต่สำหรับจีนปักกิ่งแล้ว การไม่มีข้อสรุปดังกล่าวอาจถือได้ว่าเป็นการปลดเปลื้องข้อกล่าวหาและเป็นชัยชนะทางการทูตของจีนได้
และหลังจากที่คณะเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกเปิดเผยข้อสรุปเบื้องต้นว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไม่ได้มาจากห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่นนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ มีทัศนคติที่เปิดกว้างและยอมเชิญผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกเข้าไปสืบหาต้นตอของเชื้อดังกล่าวในสหรัฐฯ เช่นกัน
นายปีเตอร์ เอมบาเรค หัวหน้าทีมเจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ถึงแม้การสืบสวนโรคจะไม่ได้เปลี่ยนภาพของการระบาดโดยสิ้นเชิงก็ตาม แต่เขาก็ยอมรับในความเป็นไปได้ว่าอาหารแช่แข็งอาจเป็นวิธีหนึ่งของการแพร่เชื้อ และเชื้อโควิด-19 นี้อาจเดินทางผ่านหลายประเทศก่อนที่จะเข้าไปถึงจีน ซึ่งเรื่องนี้ก็ดูจะสนับสนุนทฤษฎีที่ปักกิ่งเคยกล่าวมาตั้งแต่ต้น
โดยจีนเคยผลักดันแนวคิดที่ว่าไวรัสโควิด-19 นี้มีต้นตออยู่นอกประเทศจีนและได้แพร่กระจายไปหลายจุดทั่วโลก ก่อนที่จะเริ่มระบาดใหญ่ที่เมืองอู่ฮั่นในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.2019
การที่ทีมงานขององค์การอนามัยโลกมีข้อสรุปว่าไวรัสโควิด-19 ไม่ได้มาจากห้องปฏิบัติการวิจัยในเมืองอู่ฮั่น และดูจะยอมรับทฤษฎีของทางการจีนหลายเรื่องโดยไม่มีหลักฐานใหม่ใด ๆ มาสนับสนุนนั้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของการเข้าไปทำงานในประเทศจีนภายใต้เงื่อนไขอย่างจำกัดซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นที่ทีมงานขององค์การอนามัยโลกแถลงว่าเชื้อนี้ไม่ได้รั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการวิจัยของจีน
โดยนักวิจัยบางคนชี้ว่า องค์การอนามัยโลกไม่ควรด่วนสรุปเรื่องนี้ เพราะเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมากทั้งในแง่สาธารณสุขและการวิจัย เนื่องจากยังควรมีการตั้งคำถามและถกเถียงกันต่อไปเกี่ยวกับความปลอดภัยของการวิจัยด้านไวรัสในห้องทดลองกับประโยชน์ที่อาจได้รับ
ส่วนผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ชี้ว่า ควรมีการตรวจสอบและวิเคราะห์บันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของสถาบันวิจัยไวรัสที่เมืองอู่ฮั่นให้ถี่ถ้วนมากกว่านี้ เพราะสถาบันวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ได้เก็บตัวอย่างโคโรนาไวรัสจากค้างคาวเกือบ 300 สายพันธุ์ในพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และก็มีสองชนิดที่มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ด้วย
ส่วนนายริชาร์ด เอช อีไบร์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาของมหาวิทยาลัย Rutgers ผู้กล่าวหาองค์การอนามัยโลกว่ายอมจำนนต่อแรงกดดันของจีน ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า สถาบันหรือประเทศใดก็ตามที่อยากพิสูจน์ตัวเองมักจะพยายามเปิดเผยข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดในทุกเรื่อง แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากกรุงปักกิ่ง รวมทั้งไม่มีการระบุขอข้อมูลเหล่านี้อยู่ในข้อตกลงทำงานร่วมระหว่างจีนกับองค์การอนามัยโลกแต่อย่างใด
แต่ถึงแม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับต้นตอหรือที่มาของเชื้อโควิด-19 ก็ตาม หลังจากที่ภารกิจของทีมงานองค์การอนามัยโลกในประเทศจีนจบสิ้นลงเมื่อวันอังคารแล้วหนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีนได้เสนอรายงานว่า การทำงานขององค์การอนามัยโลกครั้งนี้แสดงถึงทัศนคติการให้ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในทางบวกของจีน
ส่วนนายเซ็ง กวง หัวหน้านักระบาดวิทยาที่ศูนย์ควบคุมโรคของจีน ก็ให้ความเห็นว่าควรมีการสืบหาแหล่งต้นตอของไวรัสในจุดอื่นของโลกเช่นกัน รวมทั้งในสหรัฐฯ ด้วย
ขณะที่บล็อกเกอร์แนวชาตินิยมของจีนบางคนก็ถึงกับเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกเข้าไปตรวจสอบโครงการอาวุธชีวภาพของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน