ซากฟอสซิลที่เพิ่งพบชี้ว่านกอาจไม่ได้วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์ และนักวิจัยเชื่อว่าช้างคือสัตว์ที่มีประสาทดมกลิ่นดีที่สุดในโลก

Your browser doesn’t support HTML5

Science News

ซากฟอสซิลที่ขุดพบในมองโกเลียเมื่อเร็วๆ นี้ อาจพิสูจน์ได้ว่า นกอาจไม่ได้วิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกัน แต่อาจวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่บนโลกมาก่อนหน้ายุคไดโนเสาร์ โดยซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Scansoriopteryx ซึ่งหมายความว่า ‘ปีกปีนป่าย’ อาจส่งผลให้ทฤษฎีเรื่องวิวัฒนาการของนกต้องเปลี่ยนไป

ในรายงานเรื่องนี้ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในวารสาร The Journal of Ornithology ศาสตราจารย์ Alan Feduccia นักชีววิทยาที่ University of North Carolina ตรวจสอบซากฟอสซิลดังกล่าว และพบว่ามีส่วนคล้ายกับนกในปัจจุบันมากกว่าไดโนเสาร์ นักชีววิทยาผู้นี้ระบุว่า ซากฟอสซิลที่พบใหม่นี้ไม่มีอะไรคล้ายไดโนเสาร์เลย แต่มีหลายส่วนที่คล้ายนก โดยเฉพาะส่วนขา

ศาสตราจารย์ Alan Feduccia ชี้ว่าขาของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ชนิดนี้มีลักษณะเหมือนขาที่ใช้เกาะเกี่ยวกิ่งไม้ คือนิ้วโป้งงุ้มงอไปด้านหลัง ทำให้เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้น่าจะอาศัยเกาะเกี่ยวอยู่บนต้นไม้ นอกจากนี้ ดูเหมือนลักษณะข้อต่อสะโพกของ Scansoriopteryx มิได้ถูกสร้างมาสำหรับการเดิน เหมือนกับข้อต่อสะโพกของไดโนเสาร์อีกด้วย หลักฐานอีกอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ยกมาคือ ลักษณะทางกายภาพของไดโนเสาร์ซึ่งไม่เอื้อต่อการวิวัฒนาการไปเป็นสัตว์ปีก เช่นไดโนเสาร์ T-Rex มีแขนสั้นเกินไป

หลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมายิ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า นกไม่ได้วิวัฒนาการมาจากสัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดินอย่างไดโนเสาร์

ศาสตราจารย์ Feduccia ระบุว่าเท่าที่พบ แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่สัตว์มีปีกจะวิวัฒนาการมาจากสัตว์ที่อยู่บนพื้น กล่าวคือสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังและบินได้เกือบทุกชนิด รวมถึง กระรอกบินและค้างคาว ต่างวิวัฒนาการมาจากสัตว์ที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ทั้งสิ้น

ศาสตราจารย์ Alan Feduccia กล่าวว่าซากฟอสซิลของ Scansoriopteryx ทำให้เกิดการพูดถึงสิ่งมีชีวิตอีกสายพันธุ์หนึ่งที่แตกต่างไปจากไดโนเสาร์อย่างสิ้นเชิง และยังอาจนำไปสู่การไขปริศนาของสิ่งมีชีวิตในโลกยุคดึกดำบรรพ์มากขึ้นด้วย

อีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น ค้นพบว่าสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสด้านการรับกลิ่นต่างๆ ดีที่สุดในโลกนั้น อาจจะเป็นช้างแอฟริกัน โดยรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Genome Research ระบุว่า ช้างแอฟริกันมียีนที่เกี่ยวข้องกับการดมกลิ่นถึง 2,000 ยีน มากกว่ายีนที่สุนัขมีอยู่ถึง 2 เท่า มากกว่ามนุษย์ 5 เท่า และมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นอีก 11 สายพันธุ์ ที่เชื่อกันว่ามีประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นดีเลิศ

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุได้ว่าทำไมช้างจึงต้องมียีนมากมายที่เกี่ยวข้องกับประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่น แต่เชื่อว่าความสามารถในการดมกลิ่นนั้นสำค้ญต่อการดำรงชีพของช้างป่าแอฟริกัน เพราะช่วยให้พวกมันสามารถจดจำกลิ่นอาหาร กลิ่นศัตรู หรือกลิ่นคู่ของมันได้

รายงานจาก Amy Lu ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล