เวลานี้นักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหามาตรการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์กว่า 16,000 สายพันธุ์ที่ถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ในจำนวนนี้มีลิงอุรังอุตังและยีราฟรวมอยู่ด้วย
ที่ศูนย์วิจัย Camp Leakey ในเขตอุทยานแห่งชาติตันจุงปูติง ของอินโดนีเซีย ลูกลิงอุรังอุตังหลายตัวกำลังเรียนรู้วิธีเอาชีวิตรอดในป่าใหญ่ ลูกลิงอุรังอุตังเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากนักอนุรักษ์หลังจากแม่ของพวกมันตายในป่า เพื่อนำมาเลี้ยงและฝึกฝนที่ศูนย์แห่งนี้จนเติบใหญ่ และพร้อมกลับไปใช้ชีวิตในป่าอีกครั้ง
ปัจจุบันจำนวนลิงอุรังอุตังในอินโดนีเซียลดลงอย่างน่าใจหายจนถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันถูกทำลายจากการทำไร่ปาล์มน้ำมัน
ดร.บิรูตต์ กัลดิคัส นักสัตววิทยาที่ศูนย์วิจัย Camp Leakey กล่าวว่าเมื่อมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มในถิ่นที่อยู่ของลิงอุรังอุตัง ป่าถูกทำลาย บรรดาลิงอุรังอุตังต่างขาดแคลนอาหารและต้องบุกรุกไร่ปาล์ม ซึ่งในที่สุดก็ถูกฆ่า
สหประชาชาติประเมินว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา 90% ของพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง ถูกทำลายจากการบุกรุกทำไร่ปาล์มน้ำมัน คิดเป็นพื้นที่ราว 35,000 ตารางกิโลเมตร
สถานการณ์ของลิงอุรังอุตังในอินโดนีเซีย แทบไม่ต่างจากสถานการณ์ของสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่พบเฉพาะในอาฟริกา นั่นคือ ยีราฟพันธุ์ Rothschild
คุณ Alex Motuko แห่งศูนย์รักษาพันธุ์ยีราฟในเคนย่า กล่าวว่าถิ่นที่อยู่ของยีราฟพันธุ์นี้ค่อยๆ หดหายไปเพราะถูกนำไปปลูกพืชผลทางการเกษตรแทน ยีราฟจำนวนมากจึงล้มตายเพราะขาดอาหาร นอกจากนี้ชาวบ้านยังฆ่ายีราฟที่มากินพืชผลของพวกเขาด้วย
คาดว่าปัจจุบันมียีราฟพันธุ์ Rothschild เหลืออยู่บนโลกเพียง 1,100 ตัว และมีอีกราว 450 ตัวที่อาศัยอยู่ตามสวนสัตว์ต่างๆ รวมทั้ง 150 ตัวซึ่งอยู่ที่ศูนย์รักษาพันธุ์ยีราฟในเคนย่า และกลายเป็นขวัญใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
คุณ Alexia Herma นักท่องเที่ยวจากสเปน บอกว่า การได้มาเห็นสัตว์ป่าพวกนี้ในถิ่นที่อยู่ของพวกมันถือเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่า ซึ่งเราทุกคนควรเรียนรู้การปกป้องสัตว์ป่าพวกนี้เพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลก
เมื่อเร็วๆนี้ สหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระหว่างประเทศ ระบุว่าในช่วง 30 ปีทีผ่านมา จำนวนยีราฟในอาฟริกาลดลงไปถึง 40% ทำให้พวกมันถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่ง
และถือเป็นตัวอย่างของสัตว์ป่าหายากที่กำลังมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้แตะระดับ 7,500 ล้านคน
(ผู้สื่อข่าว George Putic รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)