เมื่อ 252 ล้านปีที่แล้ว การระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่หลายหนซึ่งปล่อยคาร์บอนหลายพันล้านตันออกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลก ได้ทำให้อุณหภูมิโลกอุ่นขึ้นอย่างมาก และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในน้ำทะเล
ทำให้สัตว์ทะเล 95 เปอร์เซ็นต์และสัตว์บนบก 70 เปอร์เซ็นต์ตายลง
แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคน ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาซากฟอสซิลของตัวลอสโทรซอรัส (Lystrosaurus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเธอเลพสิด (therapsids) ซึ่งเป็นสัตว์ในวงศ์เครือญาติกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรอดจากการสาปสูญของสัตว์โลกครั้งใหญ่รอบที่ห้า เป็นตัวให้หลักฐานที่ช่วยสร้างความเข้าใจถึงการอยู่รอดของมันจากการสาปสูญของสัตว์ครั้งที่เเล้ว
นักโบราณคดี Ken Angielczyk และทีมงานที่พิพิทธภัณฑ์ Field Museum ในเมืองชิคาโก้ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ซากฟอสซิลของตัว Lystrosaurus นี้
ก่อนหน้าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สัตว์ชนิดนี้มีชีวิตยืนยาวนาน 13-14 ปี และจากข้อมูลบันทึกเกี่ยวกับการเจริญเติบโตที่ได้จากการศึกษาซากกระดูกของมัน Lystrosaurus มีขนาดลำตัวยาว 2 เมตร และมีขนาดตัวเท่ากับฮิปโปเเคระ
คุณ Ken Angielczyk กล่าวว่าหากศึกษาวิวัฒนาการของสัตว์ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุค Permian กับยุค Triassic ทีมงานพบว่าตัว Lystrosaurus หลายสายพันธุ์มีอายุนานแค่ 1 ถึง 2 ปีเท่านั้น และยังเติบโตในอัตราที่รวดเร็วอย่างมากในช่วงชีวิตที่สั้น
เพื่อความอยู่รอด Lystrosaurus สามารถแพร่พันธุ์ได้ตั้งเเต่ระดับอายุที่น้อยลงและเเพร่เข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก จนกลายเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่มีจำนวนมากที่สุด หลังเกิดการสาบสูญของสัตว์ครั้งใหญ่รอบที่ห้า
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ระบุถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วและการมีอายุขัยที่สั้นลง ช่วยเพิ่มโอกาสของการอยู่รอดขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในสภาพเเวดล้อมใหม่
คุณ Angielczyk เทียบลักษณะการมีชีวิตที่สั้นและตายภายในไม่กี่ปีของสัตว์โบราณตัวนี้ กับการล่มสลายของประชากรปลาคอทแห่งมหาสมุทรแอตเเลนติก ซึ่งเป็นสัตว์ยุคใหม่กว่าที่กำลังสาบสูญอย่างรวดเร็วเพราะการประมงเกินพอดี
ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ก่อนหน้านี้ชี้ว่า ปลาคอทมีอายุอยู่ได้นานถึง 10-15 ปี โดยปลาคอทตัวที่อายุมากที่สุดออกลูกได้มากที่สุด
เขากล่าวว่าปลาคอทส่วนมากที่จับได้ในฝูงปลาคอทใดๆ ก็ตาม ส่วนมากจะมีอายุน้อยมาก และมันต้องเร่งขยายพันธุ์ตั้งเเต่อายุยังน้อยเป็นประวัติการณ์
เขาชี้ว่านี่เป็นลักษณะของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดของมันเพราะถูกคุกคามจากการประมง เป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงเดียวกันที่เกิดขึ้นกับตัว Lystrosaurus ที่เร่งขยายพันธุ์ตั้งเเต่ในระดับอายุที่น้อยลงเพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอด
วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้น มลพิษทางสิ่งเเวดล้อม การแพร่พันธุ์ของพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นและการสูญเสียของแหล่งที่อยู่อาศัย
คุณ Angielczyk กล่าวว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาซากฟอสซิลสัตว์โบราณที่สา[สูญไป ช่วยเเนะเเนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยป้องกันได้
เขากล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของสัตว์ครั้งใหญ่ครั้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าการศึกษาที่กำลังทำอยู่นี้จะช่วยให้เข้าใจดีขึ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การวางแผนที่ดีขึ้นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
จึงกล่าวได้ว่าหลักฐานที่ได้จากการศึกษาซากฟอสซิลของตัว Lystrosaurus ช่วยชี้ถึงแนวทางการอยู่รอดที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)