สภารัสเซียผ่านกฎหมายเปลี่ยนจุดยืนทดสอบนิวเคลียร์

ขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป หรือ ICBM ถูกยิงทดสอบจากสถานที่แห่งหนึ่งในรัสเซียเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2020 (แฟ้มภาพ)

รัฐสภารัสเซียผ่านร่างกฎหมายที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนจุดยืนของรัสเซียเรื่องการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ตามที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องการ ท่ามกลางความตึงเครียดกับชาติตะวันตก

สภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ผ่านร่างกฎหมายฉบับที่ 2 และ 3 ว่าด้วยการถอนสัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามการทดสอบนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม หรือ CTBT (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty) ด้วยมติเป็นเอกฉันทน์ คือ 415 ต่อ 0

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปธน.ปูติน กระตุ้นให้สภาดูมาปรับเปลี่ยนจุดยืนเรื่องการทดสอบนิวเคลียร์เพื่อให้สะท้อนจุดยืนของสหรัฐฯ ซึ่งลงนามในสนธิสัญญาปี 1996 ฉบับนี้แต่ไม่เคยลงสัตยาบันรับรอง

ประธานสภาดูมา วยาเชสลาฟ โวโลดิน กล่าวว่า "เราเข้าใจดีถึงความรับผิดชอบของเราต่อประชาชน เรากำลังปกป้องประเทศของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ล้วนเป็นความผิดของสหรัฐฯ"

รัสเซียยืนยันว่า จะไม่เริ่มทดสอบนิวเคลียร์นอกจากสหรัฐฯ จะเริ่มก่อน แต่นักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลว่า รัสเซียอาจกำลังใกล้ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์เร็ว ๆ นี้ท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามในยูเครน และหากรัสเซียหรือสหรัฐฯ เริ่มทดสอบจริง ๆ ประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย และปากีสถาน ก็อาจทำตาม จนเกิดเป็นการแข่งขันด้านนิวเคลียร์ทั่วโลกครั้งใหม่

สภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการถอนสัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามการทดสอบนิวเคลียร์อย่างครอบคลุม หรือ CTBT (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty) ด้วยมติเป็นเอกฉันทน์ คือ 415 ต่อ 0 (ภาพจากเอพี)

รัสเซียลงสัตยาบันในสนธิสัญญา CTBT เมื่อปี 2000 ซึ่งรัสเซียยืนยันว่าหากถอนขั้นตอนนี้ออกไปจริง ๆ ก็จะยังคงร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้อยู่เช่นเดียวกับอเมริกา และจะยังคงส่งข้อมูลให้แก่องค์กรตรวจสอบระหว่างประเทศว่าด้วยการทดสอบนิวเคลียร์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาดูมาของรัสเซียระบุว่า เป็นไปได้ที่รัสเซียอาจถอนตัวออกจากสนธิสัญญานี้ทั้งหมด

ทั้งนี้ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียยังไม่เคยทดสอบนิวเคลียร์อีกเลย โดยก่อนหน้านั้นโซเวียตทำการทดสอบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1990 ขณะที่สหรัฐฯ ทดสอบครั้งสุดท้ายในปี 1992

แต่นับตั้งแต่เริ่มรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว ปูตินได้เตือนไปยังชาติตะวันตกหลายครั้งถึงพลังด้านนิวเคลียร์อันยิ่งใหญ่ของรัสเซีย และในการเยือนจีนเมื่อวันพุธ ภาพจากโทรทัศน์แสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ทหารรัสเซียผู้หนึ่งถือกระเป๋าเอกสารที่เรียกว่า 'กระเป๋านิวเคลียร์' ติดตามปธน.ปูติน ซึ่งเชื่อว่าสามารถใช้สั่งการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา

  • ที่มา: รอยเตอร์