รัสเซียประกาศพร้อมตอบโต้สหรัฐฯ ต่อกรณีโจมตีไครเมีย

  • VOA

ผู้หญิงคนหนึ่งยืนร้องไห้ที่หน้าอนุสรณ์ชั่วคราวสำหรับเหยื่อการยิงถล่มที่ทางการรัสเซียอ้างว่าเป็นฝีมือของยูเครน ที่เมืองเซวาสโตโพล แคว้นไครเมีย เมื่อ 24 มิ.ย. 2567

ทำเนียบเครมลินประกาศกล่าวโทษสหรัฐฯ ต่อเหตุการณ์การโจมตีเข้าใส่ไครเมียด้วยขีปนาวุธ ATACMS จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 151 คน โดยรัฐบาลมอสโกยังได้เตือนทูตสหรัฐฯ ให้เตรียมการตอบโต้ด้วย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

สงครามในยูเครนที่ปะทุขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ได้นำมาซึ่งการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตขีปนาวุธคิวบาเมื่อปี 1962 และเจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า ความขัดแย้งนี้กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงที่มีการยกระดับที่อันตรายที่สุดแล้ว

ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “พวกคุณควรไปถามเพื่อนร่วมงานของคุณในยุโรป และที่สำคัญก็คือ ที่กรุงวอชิงตัน รวมทั้งโฆษกทั้งหลาย ว่า ทำไมรัฐบาลของพวกเขาถึงเข่นฆ่าเด็ก ๆ ชาวรัสเซีย แค่ถามคำถามนี้แหล่ะ”

อนุสรณ์ชั่วคราวเพื่อไว้อาลัยแก้เหยื่อการยิงถล่มเมืองเซวาสโตโพล แคว้นไครเมีย เมื่อ 24 มิ.ย. 2567

เจ้าหน้าที่รัสเซียอ้างว่า ในการโจมตีเข้าใส่เมืองเซวาสโตโพลเมื่อวันอาทิตย์ ขณะที่ รายงานข่าวเผยแพร่ภาพผู้คนพากันวิ่งหนีออกจากชายหาดแห่งหนึ่งในเมืองดังกล่าว และระบุว่า มีผู้บาดเจ็บบางส่วนถูกพาตัวออกมาขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ชายหาดด้วย

รัสเซียกล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นผู้จัดส่งอาวุธที่ใช้โจมตีในเหตุการณ์นี้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านทหารของสหรัฐฯ เป็นผู้ช่วยตั้งเป้าเล็งการยิงและป้อนข้อมูลให้ผู้โจมตี

ทั้งยูเครนและสหรัฐฯ ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีการโจมตีนี้

รัสเซียได้เรียกตัว ลินน์ เทรซี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมอสโก มายังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาที่ว่า กรุงวอชิงตัน “ทำสงครามลูกผสมกับรัสเซีย และได้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งในสงครามนี้แล้ว”

รายงานข่าวระบุว่า รัสเซียแจ้งต่อทูตเทรซี ว่า การโจมตีนี้ “จะไม่มีทางลอยนวลไป มาตรการตอบโต้จะตามมาอย่างแน่นอน”

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ย้ำเตือนอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับความเสี่ยงของการขยายวงของสงครามที่มีมหาอำนาจนิวเคลียร์ต่าง ๆ เข้าร่วมด้วย แม้ว่า จะเคยกล่าวไว้เช่นกันว่า รัสเซียไม่ต้องการขัดแย้งกับพันธมิตรนาโต้ที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำอยู่

ฝ่ายประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดต่อแนวความคิดการส่งทหารอเมริกันเข้าช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย โดยเคยกล่าวหลังรัสเซียรุกรานยูเครนได้ไม่นานว่า การเผชิญหน้ากันตรง ๆ ระหว่างนาโต้และรัสเซียมีแต่จะหมายถึง สงครามโลกครั้งที่ 3

คำขู่ตอบโต้

ตั้งแต่สหรัฐฯ อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธบางตัวที่ส่งให้ในการโจมตีเข้าใส่รัสเซีย และอังกฤษแนะให้กรุงเคียฟทำแบบเดียวกันกับอาวุธที่กรุงลอนดอนส่งให้ ทำเนียบเครมลินได้ส่งสัญญาณออกมาหลายครั้งว่า ตนมองท่าทีทั้งหมดนี้เป็นการยกระดับความขัดแย้งที่ร้ายแรง

ปูตินได้สั่งให้มีการฝึกการปล่อยอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีแล้ว ซึ่งเป็นท่าทีที่แสดงให้เห็นว่า รัสเซียอาจส่งขีปนาวุธมาโจมตีพื้นที่ที่ไกลถึงสหรัฐฯ และอาณาเขตประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ก่อนจะลงนามข้อตกลงด้านกลาโหมกับเกาหลีเหนือเมื่อเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ กรุงวอชิงตันยังไม่อนุญาตให้กรุงเคียฟใช้ขีปนาวุธ ATACMS ที่มีความสามารถยิงได้ไกลถึง 300 กิโลเมตรและอาวุธวิถีไกลอื่น ๆ จากสหรัฐฯ เพื่อโจมตีเข้าใส่รัสเซีย

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัสเซียจะตอบโต้การโจมตีในไครเมียอย่างไร ดมิทรี เพสคอฟ โฆษกเครมลิน อ้างคำพูดของปูตินเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน เกี่ยวกับการนำส่งอาวุธแบบปกติให้กับพื้นที่ต่าง ๆ ใกล้กับสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตร พร้อมระบุว่า “การที่สหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ ที่ทำให้ชาวรัสเซียผู้รักสงบเสียชีวิต จะต้องมีผลกรรมตามมาอย่างแน่นอน” และว่า “จะเป็นอะไรกันแน่ เวลาจะเป็นตัวบ่งบอก”

  • ที่มา: รอยเตอร์