หากรัสเซียบุกยูเครนจริง ชาติตะวันตกจะนำมาตรการใดมาลงโทษเครมลิน

A Ukrainian serviceman moves through the ruins of an industrial compound on a frontline position outside Avdiivka, Donetsk region, eastern Ukraine, Feb. 4, 2022.

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลชาติตะวันตกทั้งหลายได้ขู่ที่จะดำเนินมาตรการลงโทษต่างๆ ต่อรัสเซียกันแล้ว หากเครมลินส่งกองกำลังข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตกจริง

และแม้ผู้นำชาติต่างๆ จะไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการลงโทษของตนออกมามากมาย หรือแม้กระทั่งเงื่อนไขที่จะนำมาซึ่งการดำเนินมาตรการต่างๆ สิ่งที่มีการสื่อสารออกมาก็คือ การลงโทษทั้งหลายจะมีผลรุนแรงต่อรัสเซียมากกว่าที่เคยมีมาอย่างแน่นอน และการรวบรวมข้อมูลเท่าที่มีการเปิดเผยออกมานั้นชี้ว่า เป้าหมายการลงโทษกรุงมอสโกน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

เทคโนโลยี

ทำเนียบขาวกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า กำลังพิจารณามาตรการควบคุมการส่งออกต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้มีการจำกัดความสามารถของรัสเซียในการจัดซื้อวงจรรวม หรือ integrated circuit (IC) ที่จำเป็นสำหรับภาคการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีมากมาย อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับเครื่องบิน และเครื่องมือจักรกลต่างๆ

หากมีการดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกจริง รัสเซียอาจตกไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญนโยบายควบคุมการส่งออกเข้มงวดที่สุด เช่นเดียวกับ คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย

ในอดีต สหรัฐฯ เคยดำเนินมาตรการคล้ายๆ กันนี้ต่อรัสเซียมาแล้วระหว่างช่วงสงครามเย็น เพื่อจำกัดความสามารถของรัสเซียในการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

ธุรกิจธนาคาร

พันธมิตรชาติตะวันตกได้ดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อธนาคารที่รัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของอยู่แล้วหลังกรุงมอสโกประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี ค.ศ. 2014

ในครั้งนี้ รัฐบาลชาติตะวันตกอาจยกระดับความเข้มข้นของมาตรการที่มีอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก ด้วยการเพิ่มชื่อสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารเอกชนบางแห่งของรัสเซีย ขณะที่ อาจมีการพุ่งเป้าการดำเนินมาตรการนี้ไปยัง กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติรัสเซีย(Russian Direct Investment Fund) ที่มีรัฐบาลหนุนหลังอยู่และเป็นหน่วยงานที่ลงทุนในบริษัทชั้นนำต่างๆ ของประเทศอยู่

ก๊าซธรรมชาติ

มีรายงานว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นอร์ด สตรีม 2 (Nord Stream 2) ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้และเชื่อมต่อรัสเซียกับเยอรมนี คือ หนึ่งในเป้าหมายของการดำเนินมาตรการลงโทษต่อรัสเซีย โดยท่อส่งดังกล่าวยังรอการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากเยอรมนีอยู่ และรัฐบาลกรุงเบอร์ลินก็ถูกกดดันอย่างหนักให้ปฏิเสธคำขออนุมัตินี้

FILE PHOTO: Logo of the Nord Stream 2 gas pipeline project is seen on a large diameter pipe

และขณะที่ทางการเยอรมันระบุว่า ตนอาจจะพิจารณาไม่อนุมัติท่อ นอร์ด สตรีม 2 ความเป็นจริงก็คือ การที่ยุโรปนั้นพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียพอสมควร คือเหตุผลที่อาจบีบเยอรมนีให้ไม่กล้าทำอย่างที่ว่าได้

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ดำเนินมาตรการลงโทษอุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซียอยู่แล้ว โดยหนึ่งในบริษัทที่ถูกลงโทษอยู่คือ ก๊าซพรอม (Gazprom) ซึ่งรัฐบาลกรุงมอสโกเป็นเจ้าของอยู่ ดังนั้น การเดินหน้ายกระดับการลงโทษในอนาคตอาจนำมาซึ่งรายละเอียดบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นหรือการเพิ่มชื่อบริษัทพลังงานอื่นๆ ของรัสเซียก็เป็นได้

ระบบ SWIFT

หนึ่งในแผนงานของสหรัฐฯ และอียูที่คาดว่าจะมีความหนักหน่วงในการลงโทษรัสเซียที่สุด ก็คือ การตัดกรุงมอสโกออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศแบบหนึ่งที่ธนาคารทั้งหลายใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วโลก

หากการลงโทษรอบใหม่มีการขยายผลไปถึงระบบนี้จริง สิ่งทีรัสเซียจะประสบก็คือ การที่จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินข้ามประเทศกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้ อันรวมถึง การที่จะไม่สามารถเข้าถึงกำไรจากการผลิตก๊าซและน้ำมันในต่างประเทศด้วย

เมื่อหลังรัสเซียผนวกคาบสมุทรโครเมียเข้ากับตนในปี ค.ศ. 2014 มีการพิจารณาจะดำเนินมาตรการนี้ต่อกรุงมอสโกอยู่ แต่ไม่ได้มีการลงมือในที่สุด ขณะที่รัสเซียโต้ว่า การตัดตนออกจากระบบ SWIFT จะเป็นเหมือนกับการประกาศสงครามระหว่างกัน และนับจากนั้นเป็นต้นมา รัสเซียได้พยายามพัฒนาระบบโอนเงินของตนที่ชื่อว่า SPFS แต่ระบบนั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าใด

สกุลเงินดอลลาร์

มาตรการลงโทษอีกแบบที่อาจมีการหยิบยกขึ้นมาใช้กับรัสเซียก็คือ การปิดกั้นไม่ให้มอสโกเข้าถึงเงินสกุลดอลลาร์ได้ ซึ่งหากรัสเซียไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ได้จริง บริษัทสัญชาติรัสเซียทั้งหลายก็จะไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆ ดังปกติได้เลย

ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจตัดสินใจดำเนินมาตรการนี้เพียงลำพัง โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากประเทศอื่นๆ ไม่เหมือนกับกรณีระบบ SWIFT โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า สหรัฐฯ กำลังศึกษาทางเลือกนี้อยู่ด้วย

พันธบัตร

ในเวลานี้ สหรัฐฯ ได้มีคำสั่งห้ามสถาบันการเงินในประเทศซื้อพันธบัตรรัฐบาลรัสเซียจากสถาบันการเงินของรัฐโดยตรงอยู่แล้ว โดยปธน.ไบเดน ลงนามคำสั่งดังกล่าวหลังมีการกล่าวหาว่า รัสเซียเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และหากจะมีการยกระดับมาตรการนี้ ก็น่าจะเป็นการสั่งห้ามซื้อขายพันธบัตรรัสเซียในตลาดรองต่อไป

บุคคลที่เกี่ยวข้อง

โดยปกติ รัฐบาลต่างๆ มักพุ่งเป้าการลงโทษไปยังบุคคลบางกลุ่ม ด้วยการสั่งห้ามการเดินทาง หรือห้ามไม่ให้ถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศ

FILE - President Vladimir Putin, left, speaks with gymnast Alina Kabaeva at a Kremlin banquet in Moscow, Russia, Nov. 4, 2004.

สำนักข่าว เอพี รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control) ว่า มีชาวรัสเซีย 735 คน ที่ยังคงถูกสหรัฐฯ ลงโทษจากกรณีการผนวกคาบสมุทรไครเมียอยู่ และในครั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษขู่ว่า จะขยายบทลงโทษนี้ไปยังกลุ่มอภิสิทธิ์ชนทั้งหลายของกรุงมอสโก หากรัสเซียบุกยูเครนจริง โดยหนึ่งในเป้าที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ชี้ให้รัฐบาลปธน.ไบเดนดำเนินการลงโทษคือ อลินา คาบาเอวา อดีตนักกีฬายิมนาสติกลีลาใหม่เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งมีข่าวว่าเป็นแฟนสาวของปธน.ปูติน

ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน

Russian President Putin attends opening ceremony of 2022 Beijing Olympics in Beijing

ผู้นำรัสเซียก็เป็นหนึ่งในเป้าการดำเนินมาตรการลงโทษของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งปธน.ไบเดน ตอบว่า ตนจะพิจารณาข้อเสนอนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน กรุงมอสโกกล่าวว่า การดำเนินมาตรการใดๆ ต่อปธน.ปูติน จะไม่ส่งผลเสียต่อผู้นำรัสเซียเป็นการส่วนตัว แต่จะกลับนำมาซึ่ง “ความเสียหายทางการเมือง” มากกว่า

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก รอยเตอร์และเอพี