รัสเซีย-เวียดนาม เสริมสัมพันธ์แกร่งหลังปูตินเยือนฮานอย

  • AFP

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และประธานาธิบดีโต แลม แห่งเวียดนาม ในงานกาล่าต้อนรับที่กรุงฮานอย 20 มิ.ย. 2024 (Gavriil Grigorov, Sputnik, Kremlin Pool Photo via AP)

รัสเซียและเวียดนามให้คำมั่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นขึ้น ในระหว่างที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตร หลังจากรัฐบาลมอสโกเผชิญกับการถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติเนื่องจากสงครามยูเครน

ปูตินเยือนเวียดนาม ในฐานพันธมิตรชิดใกล้ของรัฐบาลมอสโก นับตั้งแต่สงครามเย็น หลังการประชุมสุดยอดคิม-ปูติน ที่กรุงเปียงยาง ซึ่งปูตินได้รับ “การสนับสนุนอย่างเต็มที่” ในสงครามยูเครน รวมทั้งมีการลงนามสนธิสัญญาด้านการทหารร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียไม่ได้รับการประกาศการสนับสนุนที่ชัดเจนจากรัฐบาลฮานอย แต่ประธานาธิบดีเวียดนาม พลเอกโต แลม แสดงความต้องการที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหมร่วมกัน โดยเขากล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากหารือกับปูตินว่า “ทั้งสองฝ่ายต้องการเพิ่มความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง การรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่รูปแบบดั้งเดิม บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคและโลก”

ที่ผ่านมา รัสเซียเป็นผู้จัดหาอาวุธรายสำคัญของเวียดนามมาหลายทศวรรษ คิดเป็น 80% ของการนำเข้าในช่วงปี 1995-2023 แต่ยอดการส่งอาวุธลดลงในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาชาติต่อรัสเซียเนื่องจากสงครามยูเครน

ผู้นำรัสเซียและเวียดนาม ลงนามข้อตกลงร่วมกันกว่าสิบฉบับ ครอบคลุมเรื่องการศึกษาไปจนถึงโครงการนิวเคลียร์

ปธน.ปูตินกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าการหารือที่เวียดนามเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และทั้งสองฝ่ายมีจุดยืน “เหมือนและใกล้เคียงกัน” ในประเด็นระหว่างประเทศสำคัญ ๆ หลายอย่าง และว่าตนและผู้นำเวียดนามได้หารือเรื่องการสร้าง “โครงสร้างด้านความมั่นคงที่เพียงพอและเชื่อถือได้ในเอเชียแปซิฟิก ที่อยู่บนพื้นฐานหลักการที่ไม่ใช้ความรุนแรงและการหาทางออกของความแตกต่างอย่างสันติ”

การเยือนเอเชียของปูติน มีขึ้นในช่วงที่มหาอำนาจชาติตะวันตกออกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจากสงครามยูเครน

ในการเยือนเกาหลีเหนือครั้งแรกของปูตินในรอบ 24 ปี เกาหลีเหนือและรัสเซียลงนามสนธิสัญญาฉบับใหม่ ที่มีเงื่อนไขด้านกลาโหมร่วมกันในการ “จัดหาความช่วยเหลือร่วมกันในกรณีที่มีการรุกรานกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ซึ่งสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างกังวลว่าความร่วมมือใหม่นี้จะเป็นการเพิ่มการจัดส่งอาวุธของเกาหลีเหนือให้แก่รัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนได้มากขึ้น

แต่ในการเยือนเวียดนามนั้น พิธีการต้อนรับไม่เอิกเกริกเท่าเกาหลีเหนือ ซึ่งสอดรับกับนโยบายต่างประเทศของเวียดนามในการแสวงหาพันธมิตรแต่ไม่ยึดติดกับมหาอำนาจชาติใดที่ดำเนินมาร่วมหลายปีนี้ ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันของมหาอำนาจโลกที่เข้ามาขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  • ที่มา: เอเอฟพี