Your browser doesn’t support HTML5
หลายองค์กรรวมไปถึง “มาลาลา ยูซาฟไซ” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เร่งเร้าให้ "อองซาน ซูจี" ออกมาปกป้องชาวโรฮิงจะและให้ความสำคัญในเหตุความรุนแรงที่แคว้นยะไข่ที่ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยกว่าแสนคนแล้ว
ความรุนแรงในแคว้นยะไข่ของเมียนมา ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับกลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อย Rohingya Salvation Army ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 400 คน
ในช่วงเหตุการณ์ระลอกใหม่นี้ ชาวโรฮิงจะซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนเกือบ 125,000 คน ต้องหนีภัยข้ามพรมแดนไปที่บังคลาเทศช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลเมียนมา กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ระหว่างการเป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดิ ของอินเดีย
นางซูจีใช้ถ้อยคำเรียกเหตุการณ์ความสูญเสียนี้ว่าเป็นภัยก่อการร้าย ขณะขอบคุณอินเดียที่มีจุดยืนที่มั่นคง และเธอเชื่อว่าทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้การก่อการร้ายก่อตัวขึ้นในผืนแผ่นดินเมียนมาและในประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนั้น นางซูจี กล่าวว่าเกิดการสร้างข่าวปลอมหรือ fake news ในสื่อออนไลน์ของตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ด้วยการปล่อยภาพเหยื่อชาวโรฮิงจะในเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวกับการปะทะกันครั้งนี้เพื่อปลุกปั่นให้มีการสนับสนุนฝ่ายก่อการร้าย
การออกสื่อของนางออง ซาน ซูจีครั้งนี้ ทำให้เธอถูกวิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Amnesty International
Tirana Hassan ผู้อำนวยการฝ่ายการรับมือกับวิกฤตการณ์ของ Amnesty International กล่าวว่า ในแถลงการณ์ครั้งแรกของนางซูจีต่อวิกฤติครั้งนี้ แทนที่เธอจะให้สัญญาว่าจะมีมาตรการที่เห็นผลในการปกป้องประชาชนในแคว้นยะไข่ เธอกลับแสดงท่าทีลดความสำคัญของเหตุการณ์
หลายประเทศมุสลิมกำลังกดดันให้เมียนมายุติความรุนแรง และช่วยปกป้องชาวโรฮิงจะ ซึ่งถูกปฏิเสธการให้สัญชาติจากทางการเมียนมา
ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก ผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันหน้าสถานทูตเมียนมาที่กรุงจาการ์ต้า และเรียกร้องให้ทางการเมียนมาช่วยชาวโรฮิงจะ
อีกด้านหนึ่ง นักรณรงค์เพื่อสิทธิของสตรีมุสลิมในอัฟกานิสถาน Malala Yousafzai เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เช่นเดียวกับนางซูจี ส่งทวีต เรียกร้องให้นางซูจี ประณามความรุนแรงต่อชาวโรฮิงจะ
ส่วนเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ นาย Antonio Guterres เร่งเร้าให้ทุกฝ่ายช่วยยุติความรุนแรง และให้ทางการเมียนมาช่วยให้ความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในบังคลาเทศว่า ทหารพม่าไม่ต้องการให้ชาวโรฮิงจะที่อพยพเข้าไปในบังคลาเทศกลับเข้ามาฝั่งเมียนมา และได้วางกับระเบิดตามแนวชายแดนในช่วงสามวันที่ผ่านมา เพื่อกันผู้อพยพไม่ให้ย้อนเข้ามาฝั่งของตนอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าฝ่ายตนใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงจะ และว่าทางการไม่ได้จำกัดการเข้าทำข่าวเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Esha Sarai และ Richard Green)