รัฐบาลเมียนม่ากำลังผลักดันการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ซึ่งถูกละเลยมานานในช่วงการปกครองโดยรัฐทหารในยุคก่อน
รัฐบาลภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ที่บริหารประเทศอยู่ จึงได้ริเริ่มแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการศึกษาขึ้น ซึ่งมีกรอบเวลายาวไปจนถึงปี ค.ศ. 2021
จุดประสงค์ของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ ปรับปรุงการเรียนการสอน และให้ความสำคัญต่อคนทุกกลุ่มในสังคม ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย
มาตรการที่อยู่ระหว่างการเสนอ รวมถึงเพิ่มจำนวนปีสำหรับการศึกษาพื้นฐานอีกสองปีเป็นทั้งหมด 13 ปี และจะมีการใช้หลักสูตรใหม่ การให้ความสำคัญหลักต่อการเรียนรู้ของเด็ก และห้องเรียนที่มุ่งเน้นการตอบโต้ปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่การศึกษาแบบท่องจำอย่างเดียว
แม้ว่าแผนงานในระดับนโยบายจะได้รับการตอบรับที่ดี แต่ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ในทางปฏิบัติ แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติของเมียนม่านี้น่าจะเผชิญกับอุปสรรคด้านค่าใช้จ่ายที่สูง
งบประมาณสำหรับแผนยุทธศาสตร์นี้ซึ่งมีกรอบเวลา 5 ปี สูงอยู่ในระดับกว่า 350,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้ขอความเห็นจากชนกลุ่มน้อยและภาคประชาสังคมอย่างเพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กในชนบทและเยาวชนของชนเผ่าต่างๆ จำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาของรัฐบาล โดยรับการศึกษาตามวัดและโรงเรียนของชนกลุ่มน้อยแทน และบางแห่งอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วย
แผนปฏิรูปการศึกษาของรัฐซึ่งถูกเปิดเผยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างประเทศ หลังจากใช้เวลาศึกษาเตรียมงานเป็นเวลาสามปี
นางออง ซาน ซูจี กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มขึ้นด้วยการศึกษา และเราต้องพิจารณาให้ได้ว่าเราต้องการอะไรบ้างเพื่อที่จะให้เกิดผลสำเร็จต่อแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการศึกษา"
เมื่อย้อนกลับไปเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ระบบการศึกษาของพม่าอยู่ในระดับดีเลิศของเอเชีย แต่หลังจากที่ทหารขึ้นมาบริหารประเทศ งบประมาณด้านการศึกษาถูกตัดลดอย่างหนัก และกลับมีการเน้นย้ำถึงการเรียนแบบท่องจำตามตำรา เพราะทหารเกรงว่านักเรียนจะเคลื่อนไหวขึ้นมาท้าทายแนวทางของผู้นำ
นักวิเคราะห์ Mael Raynaud กล่าวว่า "หากพิจารณาการปฏิรูปการศึกษาในอดีตของประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซียใช้เวลากว่า 20 ปีในการสร้างระบบพื้นฐานและเตรียมบุคลากรการศึกษาเพื่อให้แข่งขันได้กับประเทศต่างๆ"
(รายงานโดย Paul Vrieze / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)