“สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-อินเดีย-ออสเตรเลีย” เร่งผลิตวัคซีนโควิดให้อาเซียน 1 พันล้านโดส

Quad Summit

จตุภาคีด้านความมั่นคง หรือ Quad เผยความร่วมมือผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 พันล้านโดส หนึ่งในยุทธศาสตร์คานอำนาจจีน ที่พยายามรุกแผน “การทูตผ่านวัคซีน” ให้ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกในตอนนี้

ที่ประชุมจตุภาคีด้านความมั่นคง ในวันศุกร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ และผู้นำอีก 3 ประเทศสมาชิก ในจตุภาคีด้านความมั่นคง (Quadrilateral Security Dialogue) หรือ Quad ได้แก่ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ แห่งญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ แห่งอินเดีย ร่วมหารือระดับผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกแบบออนไลน์

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมเมื่อวันศุกร์ ว่า ทุกประเทศต่างมุ่งเน้นการผลิตวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันการเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก ด้วยเหตุนี้จตุภาคีด้านความมั่นคง จึงผลักดันความร่วมมือใหม่เพื่อกระตุ้นการผลิตวัคซีนโควิด ที่เป็นประโยชน์กับทั่วโลก โดยเฉพาะกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ก่อนการหารือ ประธานาธิบดีไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ผู้นำทั้ง 4 ชาติเห็นชอบที่จะผลักดันงบประมาณเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนโควิด-19 ถึง 1 พันล้านโดส ให้กับกลุ่มประเทศอาเซียน ภายในปี ค.ศ. 2022 เพื่อเน้นถึงปัญหาการขาดแคลนวัคซีนในภูมิภาคนี้

ภายใต้แผนรุกผลิตวัคซีน ของกลุ่ม Quad จะเน้นการสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อรุกการผลิตวัคซีนโควิดผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ที่ตั้งเป้าผลิตและแจกจ่ายวัคซีนโควิด 2 พันล้านโดสให้กับ 94 ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ถูกกดดันให้รับมือกับการทูตผ่านวัคซีนของจีน หลังจากผู้นำสหรัฐฯ เร่งแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนอเมริกันเป็นสำคัญ ด้วยการกักตุนวัคซีนเกินจำเป็น ด้วยความกังวลว่าต้องรับมือกับโควิดกลายพันธุ์ที่ระบาดในหลายพื้นที่ รวมทั้งขยายขอบเขตการให้วัคซีนกับเด็กในอนาคตด้วย ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนโควิดกับเด็ก

ขณะที่รัฐบาลจีน นำโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ระบุเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนว่า วัคซีนโควิดที่ผลิตจากจีน จะเป็น “สินค้าสาธารณะ” และนับแต่นั้นจีนได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนราว 500 ล้านคน จาก 45 ประเทศทั่วโลก ตามข้อมูลของ Associated Press ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า จีนพยายามใช้การทูตผ่านวัคซีนเพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ หลังจากที่จีนถูกโจมตีว่าล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 จนนำไปสู่การระบาดไปทั่วโลก พร้อมทั้งแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของจีนไปพร้อมกัน

หลังการประชุมจตุภาคีความมั่นคงแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน และรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ออสติน ลอยด์ มีกำหนดการเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นรัฐมนตรีกลาโหมลอยด์ จะเดินทางไปเยือนอินเดีย ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศบลิงเคน จะหารือกับจีนที่รัฐอแลสกา ในวันที่ 18 มีนาคมนี้

มีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูกะ จะเป็นผู้นำคนแรกของโลกที่เดินทางมาพบปะแบบตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีไบเดน ที่ทำเนียบขาว แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องนี้

หนทางคานอำนาจจีนของจตุภาคีด้านความมั่นคง

จตุภาคีด้านความมั่นคง หรือ Quad ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นมาในรูปแบบพันธมิตรทางการทหาร ที่เคยพบเห็นทั่วไปในการคานอำนาจด้านกองทัพและอิทธิพลด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในการหารือในระดับผู้นำของทั้ง 4 ชาติสมาชิก ที่ใช้เวลาร่วม 90 นาทีเมื่อวันศุกร์ จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 หลังเหตุสึนามิในอินโดนีเซีย

คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน ย้ำว่า ปธน.สหรัฐฯ ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ผู้นำในจตุภาคีความมั่นคงนี้กลับสู่การเจรจา และมีแถลงการณ์จุดยืนที่ชัดเจน ถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และการหารือของผู้นำทั้ง 4 ชาติจะดำเนินไปอย่างซื่อตรงและเปิดเผยเกี่ยวกับบทบาทของจีนในเวทีโลก

ด้านชีล่า เอ. สมิธ ผู้เชี่ยวชาญจาก Council on Foreign Relations ประเมินว่า การหารือครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคไบเดน ต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไบเดนให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

ในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เดินทางเยือนเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 2017 สะท้อนมุมมองของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่เป็นเสรีและเปิดกว้าง และมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงทางทะเลและการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน จะเน้นเรื่องความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อรับมือกับโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงเพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19