นักวิเคราะห์เชื่อ แผนเยือนเกาหลีเหนือของ ‘ปูติน’ เป็นมากกว่า ‘การทักทายฉันท์มิตร’

  • VOA

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

เมื่อครั้งที่ คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เยือนรัสเซียในเดือนกันยายนของปีที่แล้ว ภารกิจหลัก ๆ ของผู้นำโสมแดงนั้นดูชัดเจนมาก และนั่นก็คือ การสอดส่องเดินดูว่ารัสเซียมีอาวุธอะไรอยู่ในคลังให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในการเดินทางครั้งนั้นที่มีการประโคมข่าวออกมาทั้งก่อนและระหว่างการเยือนมากมาย มีภาพของ คิม ปีนขึ้นไปยังห้องนักบินของเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดของรัสเซีย และภาพการตรวจดูเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ที่มีความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้และการเดินทัวร์เรือรบในกองเรือแปซิฟิกของมอสโกด้วย

นอกจากนั้น ปธน.ปูติน ยังทำหน้าที่ไกด์ส่วนตัวพา คิม ชมศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม (Vostochny cosmodrome) ซึ่งเป็นฐานปล่อยยานอวกาศที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ พร้อม ๆ กับออกปากว่า รัสเซียจะช่วยเกาหลีเหนือสร้างดาวเทียมด้วย

แฟ้มภาพ: ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน และ คิม จอง อึน เยี่ยมชมแท่นปล่อยจรวดระหว่างเยือนศูนย์วอสตอชนี คอสโมโดรม เมื่อ 13 ก.ย. 2566 (AP)

และแม้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองผู้นำจะตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการทหารที่ยกระดับขึ้น ในการพบกันครั้งนั้น ไม่มีการลงนามในข้อตกลงใด ๆ เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เฝ้าสังเกตการณ์แปลกใจไม่น้อย

แต่การเดินทางไปเกาหลีเหนือครั้งแรกในรอบ 24 ของปูตินในระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า สองผู้นำน่าจะมีการทำให้การยกระดับความสัมพันธ์มีความเป็นทางการมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านความร่วมมือทางทหาร

อเล็กเซ มูราเวียฟ ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงแห่งชาติที่มหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) ที่ออสเตรเลีย คาดว่า การพบกันครั้งนี้ของปูตินและคิมน่าจะเป็นมากกว่าการพบปะทักทาย และน่าจะมีอะไรเป็นทางการออกมาด้วย

ก่อนที่จะมีการประกาศกำหนดวันเดินทางของปูตินอย่างเป็นทางการออกมา ผู้แทนการทูตอาวุโสของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยกหูคุยฉุกเฉินเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยข้อมูลจากรัฐบาลกรุงโซลระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า การเยือนของผู้นำมอสโกไม่น่าจะถือเป็นการละเมิดมติใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีเนื้อหาห้ามประเทศต่าง ๆ เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการทหารกับเปียงยาง

ความสัมพันธ์ลุ่ม ๆ-ดอน ๆ

เป็นเวลานานนับทศวรรษแล้วที่รัสเซียเป็นผู้สนับสนุนทางทหารและเศรษฐกิจรายสำคัญของเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับจีน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองมีทั้งขึ้นและลงเป็นระยะ ๆ

อย่างเช่นกรณีเมื่อปี 2017 ที่รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรที่มีสิทธิ์วีโต้ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกเสียงสนับสนุนมาตรการลงโทษจากนานาชาติต่อการที่เกาหลีเหนือเดินหน้าโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

SEE ALSO: 'ปูติน' กร้าว! เกาหลีเหนือยอม “กินหญ้า” มากกว่ายกเลิกโครงการนิวเคลียร์

แต่หลังจากนั้นมา ปูตินและคิมกลับเริ่มมีเหตุผลที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ การรับมือกับแรงต้านจากชาติตะวันตก

และหลังจาก คิม จอง อึน กลับหลังและไม่สนใจที่จะเดินหน้าคุยกับสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ผู้นำกรุงเปียงยางสั่งเดินหน้าขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์อย่างหนัก โดยบอกว่า มีจุดประสงค์เพื่อป้องปรามสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่น ๆ ของกรุงวอชิงตันที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

ขณะเดียวกัน ปูติน สั่งกองทัพรุกรานยูเครนเมื่อต้นปี 2022 ก่อนจะต้องรับมือกับกองทัพกรุงเคียฟที่ชาติตะวันตกหนุนหลังมาโดยตลอด

และไม่นานหลังเปิดฉากรุกรานยูเครน คิม จอง อึน ก็กลายมาเป็นหนึ่งในผู้นำไม่กี่คนที่สนับสนุนรัสเซียในปฏิบัติการนี้

ผู้สังเกตการณ์อิสระพบว่า มีอาวุธหลายอย่างจากเกาหลีเหนือ เช่น ขีปนาวุธ ในสนามรบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันความเชื่อของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า กรุงเปียงยางเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่กรุงมอสโก

พัฒนาการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับท่าทีของรัสเซียที่แข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ ในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งชัดเจนว่าละเมิดมาตรการลงโทษทั้งหลายของยูเอ็นที่มอสโกกลับใจมาประกาศจุดยืนคัดค้านแล้ว

การเยือนเปียงยางของปูตินจะนำมาซึ่งอะไร

ในครั้งนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ปูตินจะใช้ความระมัดระวังในการมีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ และไม่น่าจะทำการใด ๆ ที่เป็นการละเมิดมติลงโทษกรุงเปียงยางของยูเอ็นอย่างชัดเจน เพราะมอสโกยังคงพยายามแสดงตนว่า เป็นผู้มีบทบาทในเวทีโลกที่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ ตามความเห็นของ อเล็กเซ มูราเวียฟ จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี มูราเวียฟ กล่าวว่า รัสเซียอาจ “ยกนิ้วกลางใส่ชาติตะวันตก” ด้วยการค่อย ๆ ลดระดับการลงโทษเกาหลีเหนือตามมติยูเอ็นลงเรื่อย ๆ และว่า “รัสเซียนั้นกำลังเผชิญมาตรการลงโทษมากมายยิ่งกว่าเกาหลีเหนืออยู่ ดังนั้น หากรัสเซียละเมิดนโยบายลงโทษจากนานาชาติ รัสเซียจะมีอะไรให้เสียไปกว่าที่เสียอยู่แล้วจากการรุกรานยูเครนอีกหรือ”

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการคาดการณ์กันก็คือ การที่ปูตินจะใช้โอกาสเยือนเกาหลีเหนือตอกย้ำจุดยืนการสนับสนุนโครงการพัฒนาดาวเทียมของกรุงโซลด้วย

นับตั้งแต่ คิม จอง อึน เยือนรัสเซียเมื่อ 9 เดือนก่อน เกาหลีเหนือทำการทดสอบปล่อยดาวเทียมไปแล้ว 2 ครั้ง แม้ครั้งล่าสุดจะประสบความล้มเหลวก็ตาม โดยนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมกล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือใช้ระบบจรวดขนส่งแบบใหม่ในโครงการนี้ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียคือผู้ให้การสนับสนุนอยู่

SEE ALSO: โสมแดงยอมรับ ภารกิจส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นอวกาศล้มเหลวอีกครั้ง

และถึงแม้มาตรการลงโทษของยูเอ็นจะเป็นปัจจัยสำคัญในการจำกัดความร่วมมือระหว่างรัสเซีย-เกาหลีเหนืออยู่ ทั้งสองประเทศอาจหาทางประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การส่งแรงงานเกาหลีเหนือไปรัสเซีย เป็นต้น อ้างอิงความเห็นของ อาร์เทียม ลูคิน ศาสตราจารย์จาก Far Eastern Federal University ในรัสเซีย

ลูคิน บอกกับ วีโอเอ ว่า “รัสเซียไม่เคยบอกว่า จะหยุดปฏิบัติตามมาตรการลงโทษของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นต่อเกาหลีเหนือ แต่รู้ไหม มันมีวิธีหลบเลี่ยงได้เสมอ ดูอย่างจีนสิ” และว่า “ผมคิดว่า รัสเซียอาจทำตามแบบอย่างเดียวกันนี้บ้างแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ลูคิน ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่า รัสเซียจะเดินหน้าให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธของเกาหลีเหนืออย่างไร แต่ยอมรับว่า รัสเซีย “น่าจะเป็นมหาอำนาจประเทศเดียวที่สามารถจัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกาหลีเหนือรู้สึกปลอดภัยขึ้นได้”

ศาสตราจารย์ท่านนี้ยังชี้ด้วยว่า การจะสรุปว่าความร่วมมือระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือนั้นจะยืนยงยาวนานกว่าสงครามในยูเครนอยู่ไม่นั้นเป็นไม่ได้เลย แต่ก็กล่าวว่า ผลประโยชน์ระยะยาวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเรื่องนี้อยู่ โดยไม่มีใครรู้ว่า การร่วมมือกันนี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นความเป็นพันธมิตรอย่างแท้จริงในที่สุดได้หรือไม่

  • ที่มา: วีโอเอ