กลุ่มติดอาวุธที่ใช้ชื่อว่ากองทัพอาระกัน หรืออาระกันอาร์มี ประกาศในวันจันทร์ว่า สามารถยึดป้อมค่ายใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันตก และจับกุมทหารของกองทัพรัฐบาลได้หลายร้อยนาย ตามการรายงานของเอพี
กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) เผยแพร่แถลงการณ์ในแอปพลิเคชั่นเทเลแกรมเมื่อวันจันทร์ว่า ทหารภายใต้หน่วยปฏิบัติการที่ 15 ของรัฐบาล ประกาศยอมแพ้หลังตกอยู่ในวงล้อมการโจมตี อย่างไรก็ตาม เอพีระบุว่ายังไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ได้
วิดีโอที่กองทัพอาระกันระบุว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ แสดงให้เห็นนักรบฝ่ายตนกำลังเดินลำเลียงกลุ่มคนไปตามทุ่งนาและท้องถนน โดยมีทั้งคนที่ใส่ชุดทหารและพลเรือน รวมถึงเด็กและสตรีที่เป็นครอบครัวของทหารฝ่ายรัฐบาลที่ประจำการในพื้นที่ และมีบางคนที่บาดเจ็บ
คำอธิบายของวิดีโอระบุว่า บุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์คือรองผู้บัญชาการของกองทัพและกำลังพลใต้บังคับบัญชา หลังจาก 'การจู่โจมขั้นสุดท้าย ที่พวกเขาพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง และประกาศยอมจำนน'
Your browser doesn’t support HTML5
แถลงการณ์เมื่อวันอาทิตย์จาก AA ระบุว่าได้ยึดฐานบัญชาการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดี หลังเปิดปฏิบัติการโจมตีมาเป็นเวลาสองสัปดาห์ และสามารถยึดอาวุธ เครื่องกระสุน อุปกรณ์ทางการทหาร และเชลยศึกไว้ได้
AA เป็นปีกทหารของขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ที่ได้รับการฝึกและติดอาวุธเป็นอย่างดี จนทำให้กองทัพเมียนมาต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับในสมรภูมิรัฐทางตะวันตกแห่งนี้
ทางกองทัพเมียนมายังไม่ได้มีความเห็นใด ๆ สืบเนื่องจากรายงานเหตุการณ์นี้ ด้านโฆษกของกองกำลัง AA ก็ไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นจากเอพีเช่นกัน
การต่อสู้ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นทั่วประเทศ หลังกองทัพเมียนมาตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ตามมาด้วยการปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าวอย่างรุนแรง
นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว กองทัพเมียนมาตกเป็นฝ่ายตั้งรับ แม้ว่าจะมีความได้เปรียบทางกำลังพลและยุทโธปกรณ์ หลังกองกำลังชาติพันธุ์สามกลุ่ม ซึ่งรวมถึงกลุ่ม AA ร่วมมือกันโจมตีพื้นที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จนสามารถยึดเล้าก์ก่าย ซึ่งเป็นเมืองทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศจีน
ในปี 2017 รัฐยะไข่กลายเป็นพิกัดที่ได้รับความสนใจในฐานะพื้นที่ของปฏิบัติการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจา ในนามของการปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบ ส่งผลให้ประชาชนราว 740,000 คนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหลบหนีจากการเข่นฆ่า การข่มขืน และการทำลายถิ่นที่อยู่
ในช่วงเวลานั้น กลุ่มชาตินิยมในรัฐยะไข่ได้ร่วมมือกับกลุ่ม AA ในการกวาดล้างชาวโรฮีนจา แต่การรัฐประหาร ทำให้ชาวโรฮีนจาและกลุ่ม AA ต้องจับมือกันเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ
- ที่มา: เอพี