เมื่อวันอาทิตย์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยราว 50 คนจัดกิจกรรมศิลปะเชิงสัญลักษณ์ ณ จัตุรัสภูมิพล นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ เรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
รศ. ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทย และอาจารย์ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต อธิบายระหว่างการจัดกิจกรรมว่า ทางกลุ่มต้องการจัดงานในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวันชาติของไทย เนื่องจากกลุ่มเห็นว่าวันชาติไม่ควรผูกกับวันเกิดของผู้ใด และทางกลุ่มเห็นว่าในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้เห็นต่างทางการเมืองและตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์เผชิญกับการถูกคุกคาม
นายปวินกล่าวว่า การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในไทยเมื่อปีที่แล้ว แม้จะทำให้มีการ “ข้ามเส้น” ถึงการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แต่บทสนทนาในประเด็นดังกล่าวยังถือว่าเป็นอันตราย พร้อมระบุว่า ถึงตนจะไม่ได้กลับประเทศแต่ก็ยังต้องการเคลื่อนไหวเพื่ออนาคตของประเทศ
กิจกรรมดำเนินไปอย่างเรียบร้อยพร้อมการสังเกตการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนายโจเซฟ มิลาโน กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ของไทยประจำนครบอสตัน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำนครบอสตัน ยังไม่มีความเห็นต่อประเด็นการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ณ เวลาที่เผยแพร่รายงาน
ทั้งนี้ แต่เดิมวันชาติของไทยตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปีพ.ศ. 2503 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เปลี่ยนวันชาติมาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม และในยุคของจอมพลสฤษดิ์นี้เองที่เริ่มมีการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกำหนดบทลงโทษผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์
บรรดานักวิเคราะห์การเมืองตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นสู่อำนาจหลังการรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2557 มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ต่อผู้ที่มีความเห็นต่างต่อทั้งสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองมากขึ้น ก่อนที่การดำเนินคดีด้วยมาตราดังกล่าวจะลดลงในช่วงต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
โดยพลเอกประยุทธ์กล่าวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วว่า “วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว”
แม้ในช่วงดังกล่าวจะมีการดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 ลดลง แต่สำนักข่าวประชาไทเคยรายงานเมื่อช่วงปลายปีพ.ศ. 2562 ว่า มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ประชาไทยังอ้างข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่า มีกระบวนการควบคุมตัว บังคับให้ข้อมูลและทำข้อตกลงแทน ซึ่งศูนย์ทนายความระบุว่าเป็น “กระบวนการนอกกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม มีการกลับมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรา 112 อีกครั้งต่อผู้ประท้วงในช่วงการประท้วงเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เมื่อปีที่แล้ว โดยข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายของประชาชน หรือ iLaw ระบุว่า ในช่วงการประท้วงนับตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 97 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 37 คดี มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 100 คน เป็นเยาวชนอย่างน้อย 8 คน
ทั้งนี้ กิจกรรม “5 ธันวาฯ บอกลา 112” ในครั้งนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งจากภาคส่วนการเมืองไทย และประชาคมโลก โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังมีการจัดในอีกเจ็ดประเทศนอกจากสหรัฐฯ เช่น ที่นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย