เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ปีที่แล้วโตเร็วนำหน้าชาติอื่นในอาเซียน เนื่องจากแรงหนุนทางการทูต

Filipino traders blow horns during the last trading day of the year at the Philippine Stock Exchange in the financial district of Makati, south of Manila, Philippines, Dec. 29, 2016.

Your browser doesn’t support HTML5

Philippines Economy

เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมาโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เเละกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟประมาณว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 2017 จะมีมูลค่าที่ 311,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

Ernesto Abella โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวว่า ตั้งเเต่ขึ้นรับตำเเหน่งในเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ได้สร้างความร่วมมือใหม่ๆ หลายด้านกับจีน และส่งเสริมความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ซึ่งสนใจที่จะลงทุนในฟิลิปปินส์

เขาชี้ว่าความสำเร็จด้านความร่วมมือกับต่างประเทศนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว

Rahul Bajoria นักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคแห่ง Barclays ในสิงคโปร์ กล่าวว่า หากดูในเเง่ของผลกระทบต่อจีนแล้ว ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศที่พึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดในภูมิภาค เเต่เขากล่าวว่าในระยะยาว จีนจะมีบทบาททางเศรษฐกิจต่อฟิลิปปินส์มากขึ้นในช่วง 3 – 5 ปีข้างหน้า หากแผนความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศยังเดินหน้าต่อไป

นักวิเคราะห์เเห่ง Barclays กล่าวว่า การลงทุนต่างประเทศหลักๆ น่าจะมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่จะเน้นที่ภาคโรงงานผลิตสินค้าและภาคการทำเหมือง

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า จีนได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือมูลค่า 24,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และบรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ญี่ปุ่นจะลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมในฟิลิปปินส์ และยังจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการพัฒนาต่างๆ

โดยญี่ปุ่นเป็นชาติที่ลงทุนโดยตรงมากที่สุดในฟิลิปปินส์เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าคิดเป็นเกือบ 29 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

ในปี ค.ศ. 2017 ประธานาธิบดี Duterte ดูเทอร์เต้ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาคมอาเซียน (ASEAN) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 10 ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโฆษกประจำตัวของเขากล่าวกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า บทบาทในฐานะประธานสมาคมอาเซียนนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

อดีตประธานาธิบดี Benigno Aquino ได้เพิ่มมูลค่าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคขึ้นไปเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2016 เพื่อพัฒนาทางด่วน ระบบขนส่งมวลชน Metro Manila และทางรถไฟสายต่างๆ ในจังหวัดต่างๆ

นอกจากนี้ เขายังได้พยายามดึงดูดนักลงทุนผ่านโครงการที่เรียกว่า "China+1" ซึ่งเป็นโครงการที่เสนอผลประโยชน์ต่างๆ เเก่บริษัทต่างชาติที่ลงทุนอยู่เเล้วในจีน ให้เข้าไปขยายกิจการในฟิลิปปินส์แทน

Ernesto Pernia เลขาธิการด้านการวางเเผนด้านเศรษฐศาสตร์สังคมของฟิลิปปินส์ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า ประธานาธิบดี Duterte ตั้งเป้าที่จะเน้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในชนบทห่างไกลของฟิลิปปินส์

เขากล่าวว่า ทางการฟิลิปปินส์ยังเดินหน้าดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สืบเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อนต่อไป เเต่ได้เพิ่มเงินลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคมากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาระดับภาคและในชนบท ตลอดจนเน้นลงทุนอย่างเข้มเเข็งในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรวมทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และโภชนาการ

โดยปกติแล้ว เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์พึ่งการบริโภคและเงินที่ส่งกลับบ้านโดยชาวฟิลิปปินส์ที่ีทำงานในต่างประเทศเป็นหลัก ตลอดจน call centers สำหรับบริษัทต่างชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษและค่าเเรงที่ต่ำ ช่วยดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้าไปตั้ง call centers ในฟิลิปปินส์ และประมาณว่า call centers เหล่านี้ได้สร้างรายได้แก่ประเทศถึง 25,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

ส่วนเงินที่เเรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างประเทศส่งกลับบ้าน อยู่ที่ 14,600 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีเเรกของปีที่แล้ว

ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB ในฟิลิปปินส์ คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่าน อยู่ที่ 6.4 เปอร์เซ็นต์ และน่าจะอยู่ที่ 6.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 และชี้ให้เห็นว่า ฟิลิปปินส์เติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่าไม่ควรคาดหวังสูงนักต่อการลงทุนจากต่างประเทศ กฏหมายเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของธุรกิจของบริษัทต่างประเทศทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่อยากลงทุนในอุตสาหกรรมบางประเภท รวมทั้งการทำเหมือง และเงินที่มาจากจีนอาจอยู่ในรูปของเงินกู้ หรืออาจจะเจาะจงว่ามอบให้โครงการบางอย่างตามความสนใจของจีน

ธนาคารโลกรายงานว่า เงินลงทุนโดยต่างจากต่างประเทศคิดเป็นเเค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี 2015


(รายงานโดย Ralph Jennings / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)