Your browser doesn’t support HTML5
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์แสดงความหวังว่า คำร้องของฟิลิปปินส์ต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก เกี่ยวกับข้อพิพาทกับจีนในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ จะได้รับการตัดสินชี้ขาดภายในเดือน เม.ย หรือ พ.ค นี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ Charles Jose กล่าวในวันพฤหัสบดีว่า ฟิลิปปินส์กำหนดเงื่อนเวลาเกี่ยวกับการตัดสินในข้อพิพาทกับจีนในประเด็นพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ โดยอ้างอิงจากวันที่ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก
และแม้จีนประกาศหนักแน่นว่าไม่เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาเรื่องนี้ แต่นาย Jose ยืนยันว่าฟิลิปปินส์จะยึดตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆ ขอให้จีนเคารพในคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนี้เช่นกัน
เมื่อเดือน ม.ค. ปี ค.ศ. 2013 ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ให้พิจารณาว่าการที่จีนกล่าวอ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยอาศัยแผนที่โบราณที่เรียกว่าแผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้น ถูกต้องหรือไม่
นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ยังขอให้มีการระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มหินบางกลุ่มที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาด 370 กิโลเมตรของฟิลิปปินส์นั้น เรียกว่าเป็นเกาะหรือไม่
จีนประกาศในเวลาต่อมาว่าจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาคำร้องของฟิลิปปินส์ และย้ำว่าจะไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามคำตัดสินของของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศจีน Wang Yi นำประเด็นนี้ขึ้นมาพูดระหว่างการปราศรัยที่ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน โดยบอกว่าฟิลิปปินส์ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ เมื่อไม่ยอมเจรจาแบบตัวต่อตัวกับจีนเพื่อหาทางจัดการข้อพิพาทเรื่องนี้ แต่กลับยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแทน
อาจารย์ Jay Batongbacal แห่งสถาบันศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ University of Philippines กล่าวว่าคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการน่าจะเป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์มากกว่าจีน และอาจมีการระบุด้วยว่าแผนที่เส้นประ 9 เส้นที่จีนใช้กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์นั้น ไม่ถูกต้อง
อาจารย์ Batongbacal ระบุว่าหากคำตัดสินออกมาเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าจีนต้องพยายามหาเหตุผลหรือหลักฐานอื่นๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อมาใช้สนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน ซึ่งอาจรวมถึงการกระทำที่ขัดกับคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการด้วย แต่ก็จะเป็นเรื่องยากที่จีนจะโน้มน้าวให้ประเทศอื่นเห็นด้วยกับการกระทำของจีน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างเกาะเทียมขึ้น 7 แห่งบนกลุ่มหินในทะเลจีนใต้ และล่าสุดจีนได้ตั้งฐานยิงจรวดและเรดาห์บนเกาะ Woody ซึ่งก่อความกังวลให้กับหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Batongbacal เชื่อว่าคณะอนุญาโตตุลาการคงจะไม่มีคำสั่งให้จีนต้องรื้อถอนเกาะเทียม แต่อาจมีคำแถลงว่าการที่จีนสร้างเกาะเทียมนั้นขัดแย้งข้อผูกพันของจีนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นการสร้างขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคำตัดสินเรื่องนี้ออกมา และไม่เป็นธรรมกับคู่กรณี
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังชี้ด้วยว่า ในที่สุดแล้วไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร คำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการจะไม่รวมถึงการตัดสินว่าประเทศใดที่สิทธิ์ครอบครองกลุ่มหินในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านั้น
(ผู้สื่อข่าว Simone Orendain รายงานจากกรุงมะนิลา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)