‘เพนกวิน’ ช่วยชี้เบาะแสต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในขั้วโลกใต้

Scientists investigate impact of climate change on penguin colonies in Antarctica

เพนกวิน เป็นยิ่งกว่าสัญลักษณ์ของขั้วโลกใต้ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เพนกวินเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ในการทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติในขั้วโลกใต้ ตามรายงานของรอยเตอร์

นักวิจัยด้านนิเวศวิทยาขั้วโลก ไมเคิล เวธิงตัน และอเล็กซ์ โบโรวิกซ์ แอบมองผ่านกล้องส่องทางไกลจากเรือยาง ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บของขั้วโลกใต้ เพื่อสอดส่องความเป็นไปของเพนกวินอาเดลี ที่อาจช่วงชี้เบาะแสของอาณาจักรเพนกวินอื่นๆใกล้เคียงในขั้วโลกใต้ ซึ่งตอนนี้พื้นที่คาบสมุทรแอนตาร์กติกทางตะวันตก กำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทางตะวันออกของขั้วโลกใต้ยังคงหนาวเย็นและเต็มไปด้วยแผ่นน้ำแข็งอยู่

โบโรวิกซ์ จากมหาวิทยาลัย Stony Brook University ในรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า ทุกๆปีทีมวิจัยจะนับรังของเพนกวิน ดูว่ามีเพนกวินอยู่กี่ตัว และมีเพนกวินที่ให้กำเนิดลูกเพนกวินใหม่ๆ เท่าไร รวมทั้งนับจำนวนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากเงื่อนไขด้านสภาพแวดล้อมด้วย

สำหรับนักวิจัยด้านสภาพอากาศ ไม่มีคำว่าง่ายสำหรับการสำรวจพื้นที่อันห่างไกลและหนาวเหน็บในขั้วโลกใต้ แต่เหล่าเพนกวินนั้นง่ายต่อการติดตามมากกว่าสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ เพราะเพนกวินอาศัยอยู่บนบก พื้นขนสีดำตัดขาว และมูลเพนกวิน ซึ่งเป็นที่เด่นชัดท่ามกลางความขาวโพลนของขั้วโลกใต้ ซึ่งในมุมมองของเวธิงตัน จากมหาวิทยาลัย Stony Brook University มองว่าเพนกวินคือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เพื่อให้เห็นภาพโดยรวมของสภาพแวดล้อมในขั้วโลกใต้

นอกจากการนับประชากรเพนกวินแล้ว ทีมวิจัยยังวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียม ที่พบว่า เพนกวินที่เอาชนะภาวะโลกร้อนมาได้ จะสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นมา ขณะที่เพนกวินอื่นๆที่พ่ายแพ้จะต้องมองหาทำเลลู่ทางที่หนาวเย็นขึ้นเพื่อความอยู่รอด

คลื่นลูกใหม่ของเพนกวินเจนทู

เพนกวินเจนทู (Gentoo penguins) ที่มีลักษณะเด่นคือ แถบสีขาวบริเวณขมับทั้งสองข้าง และจะงอยปากสีส้มแดง เริ่มดำรงชีวิตบางส่วนในน้ำที่ปราศจากแผ่นน้ำแข็งให้ได้ยึดเกาะเหมือนแต่ก่อนในคาบสมุทรแอนตาร์กติก เมื่ออุณหภูมิในพื้นที่ดังกล่าวอุ่นขึ้นกว่าพิกัดอื่นในโลกตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ประชากรเพนกวินเจนทูขยายอาณาจักรออกไปทางใต้ จนเกิดปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า gentoofication

เดวิด เอนลีย์ นักชีววิทยาจากบริษัทที่ปรึกษาด้านนิเวศวิทยา H.T. Harvey & Associates ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเพนกวินมานานกว่า 50 ปี บอกว่า ธรรมชาติของเพนกวินเจนทูไม่ชอบแผ่นน้ำแข็ง พวกมันส่วนใหญ่จะออกหากินบริเวณไหล่ทวีปและไม่ว่ายเวียนออกไปในทะเล แต่เมื่อปริมาณน้ำแข็งในทะเลดลงอย่างมากในคาบสมุทรแอนตาร์กติก เพนกวินเจนทูสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ ขณะที่เพนกวินอาเดลี ที่เหมือนเพนกวินสวมสูททักซิโดนั้น พึ่งพาแผ่นน้ำแข็งเพื่อหาอาหารและการสืบพันธุ์

เวธิงตัน เพิ่มเติมว่า เมื่อทีมวิจัยพบกับเพนกวินอาเดลี พวกเขาคิดว่าจะมีแผ่นน้ำแข็งอยู่ใกล้ๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่ปริมาณน้ำแข็งลดลงพร้อมๆกัน จะเริ่มเห็นประชากรเพนกวินอาเดลีลดลงตามไปด้วย แม้ว่าตอนนี้ประชากรเพนกวินอาเดลีจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ประชากรเพนกวินชนิดอื่นปรับลดลงมามากกว่า 65% แล้ว

พื้นที่ปลอดภัย

ในการสำรวจขั้วโลกใต้ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stony Brook University เมื่อเดือนมกราคม พบว่า อาณาจักรเพนกวินอาเดลีในทะเลน้ำแข็ง Weddell Sea อันหนาวเหน็บและเต็มไปด้วยน้ำแข็ง ยังคงมีเสถียรภาพอยู่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และว่าคาบสมุทรนี้อาจเป็นพื้นที่ปลอดภัยอยู่ แม้การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติจะยกระดับขึ้นทั่วโลกก็ตาม

เฮเธอร์ ลินช์ นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัย Stony Brook University หัวหน้าทีมสำรวจบริเวณ MV Arctic Sunrise ในขั้วโลกใต้ ระบุว่า การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่ในขั้วโลกใต้

เมื่อปี 2020 ทีมสำรวจจาก British Antarctic Survey ค้นพบอาณาจักรใหม่ของเพนกวินจักรพรรดิ 11 แห่ง จากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งทำให้ประชากรเพนกวินจักรพรรดิเพิ่มขึ้นราว 20%

แต่ข้อมูลตั้งแต่ปี 2016 พบว่า เพนกวินเกือบทุกสายพันธุ์มีจำนวนลดลงในบริเวณอ่าว Halley Bay และทางตะวันออกของ Weddell Sea ซึ่งเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของเพนกวินจักรพรรดิ ที่พบเพนกวินจักรพรรดิราว 25,000 คู่มารวมตัวกันทุกปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ต่างประเมินว่า นี่อาจเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ที่เปลี่ยนแปลงระดับทะเลน้ำแข็งในพื้นที่ และกังวลว่าเพนกวินจะต้องรับผลกระทบหนักจากปรากฏการณ์ดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ปีเตอร์ เฟรทเวลล์ นักภูมิศาสตร์จาก British Antarctic Survey ทิ้งท้ายไว้ว่า ระหว่างที่การล้มหายตายจากของเพนกวินอาจไม่ได้มีผลโดยตรงมาจากภาวะโลกร้อน แต่ถือว่าภาวะโลกร้อนมีส่วนเกี่ยวข้องกับความสูญเสียของประชากรเพนกวินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

  • ที่มา: รอยเตอร์