การล่านกอพยพในปากีสถานโดยราชวงศ์อาหรับกลายเป็นประเด็นโต้แย้งทางการเมือง

  • Ayaz Gul
ประชากรนกฮูบาร่าบัสเติร์ดได้ลดจำนวนลงทำให้เกิดการต่อต้านการล่านกพันธุ์นี้โดยสมาชิกราชวงศ์อาหรับในปากีสถาน

Your browser doesn’t support HTML5

Pakistan Bird Hunting Controversy

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปี นกฮูบาร่า บัสเติร์ด (Houbara Bustards) มีลักษณะคล้ายนกกระเรียน จำนวนหลายพันตัวจะบินข้ามถิ่นเข้าไปในจังหวัดทางใต้และจังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานเพื่อหนีความหนาวเย็นในประเทศต่างๆ ทางเอเชียกลาง

นกอพยพพันธุ์นี้จำนวนมากเข้าไปอยู่ในจังหวัดบาโลจิสถานของปากีสถานและตกเป็นเหยื่อของกีฬาล่านกด้วยเหยี่ยวโดยบรรดาราชวงศ์จากประเทศอาหรับที่ได้รับใบอนุญาตการล่านกจากทางการปากีสถานมานานกว่า 40 ปีที่แล้ว

หน่วยงาน International Union for Conservation of Nature (IUCN) ได้จัดให้นกฮูบาร่า บัสเติร์ดเป็นนกประเภทที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการถูกล่า

นาย Hammad Naqi Khan แห่ง World Wide Fund (WWF) ปากีสถานแย้งว่าไม่ควรล่านกพันธุ์นี้โดยเด็ดขาด เขากล่าวว่า ICUN แสดงความเป็นห่วงต่อความอยู่รอดของนกอพยพพันธุ์นี้ ส่วน CITES ก็ระบุเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงถือได้ว่านกพันธุ์นี้ไม่ควรถูกล่าเพราะจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ทุกปี ปากีสถานออกใบอนุญาตล่านกพันธุ์์นี้แก่บรรดาราชวงศ์จากประเทศอาหรับที่มีสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ผู้ถือใบอนุญาตสามารถล่านกพันธุ์นี้ได้ไม่เกิน 100 ตัวภายใน 10 วัน โดยใช้เหยี่ยวที่ถูกฝึกเป็นผู้ล่า

เจ้าหน้าที่ทางการปากีสถานจะเข้าร่วมในการล่านกด้วยเพื่อตรวจสอบว่ามีการล่านกไม่เกินตามจำนวนที่ได้รับอนุญาต

ด้านผู้ไม่เห็นด้วย อย่างทนายความ Baz Mohammad Kakar ซึ่งได้โต้แย้งการออกใบอนุญาตล่านกในศาลจังหวัดบาโลจิสถาน เขากล่าวว่าทางการปากีสถานทำงานไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมให้ล่านกให้อยู่ตามจำนวนที่กำหนด เมื่อราชวงศ์อาหรับเข้าไปล่านก คนธรรมดาสามัญจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ล่า ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่ทางการปากีสถานจะเข้าไปนับจำนวนนกที่ถูกล่าจริงๆ ได้

เมื่อเดือนเมษายนปีพุทธศักราช 2556 เกิดการรั่วไหลของเอกสารราชการที่ระบุว่าเจ้าชายจากประเทศซาอุดิอารเบียท่านหนึ่งล่านกฮูบาร่าบัสเติร์ด ถึง 2,100 ตัวภายในเวลาการล่าเพียง 3 สัปดาห์ ข้อมูลนี้สร้างความไม่พอใจแก่บรรดานักอนุรักษ์สัตว์ป่าและเป็นเหตุให้มีการโต้แย้งทางกฏหมายรอบใหม่ถึงความถูกต้องของการออกใบอนุญาตให้ล่านกอพยพพันธุ์นี้

แม้กระนั้นก็ตาม แรงต่อต้านนี้ยังไม่มีผลให้ทางการปากีสถานยุติการออกในอนุญาตล่านกในปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกแก่ผู้สื่อข่าววีโอเอว่าฤดูการล่านกครั้งล่าสุดนี้กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วนำโดยเจ้าฟ้าชายจากราชวงศ์ของประเทศการ์ต้า มีการรักษาความปลอดภัยแก่กลุ่มล่านกอย่างแน่นหนาเพื่อไม่ให้มีคนเข้าไปขัดขวางการล่านก

ศาลจังหวัดบาโลจิสถานชี้ว่าใบอนุญาตล่านกที่ออกโดยทางการปากีสถานครั้งล่าสุดละเมิดต่อกฏหมายท้องถิ่นและข้อตกลงระดับนานาชาติ เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบังคับใช้ข้อสั่งห้ามการล่านก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน Tasnim Aslam กล่าวว่าการออกใบอนุญาตล่านกเป็นงานของคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ประธาน คณะกรรมการนี้ตัดสินใจออกใบอนุญาตและกำหนดเขตพื้นที่ล่า


ทางสำนักนายกรัฐมนตรีปากีสถานยังไม่ออกมาตอบคำถามใดๆ ต่อเรื่องนี้ แต่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านได้นำประเด็นนี้เข้าไปถกในที่ประชุมรัฐสภา