ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาเรื่องการดูแลสัตว์ป่าจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า


การปราบปรามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาท้าทายใหม่ขึ้น นั่นคือจะทำอย่างไรกับสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่ช่วยเหลือมาได้

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:49 0:00
Direct link

สัตว์ป่าจำนวนมากที่ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมตาเมาเป็นสัตว์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากคณะช่วยเหลือสัตว์ป่าฉุกเฉินที่รัฐบาลกัมพูชาจัดตั้งขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกัมพูชาและขององค์กรเพื่อการช่วยเหลือสัตว์ป่า Wildlife Alliance ในสหรัฐ ทำงานร่วมกัน แต่ละปีคณะทำงานชุดนี้สามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าหายากมาจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้หลายร้อยตัว ไม่ว่าจะเป็นลิงค่าง หมี เต่า ตัวนิ่ม และสัตว์หายากอื่นๆ

ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมตาเมาตั้งอยู่ในพื้นที่ราว 24 ตร.กม.ในป่าสงวนขนาดใหญ่ของกัมพูชา จัดเป็นศูนย์ที่มีหมีอยู่ในการดูแลมากที่สุดคือกว่า 100 ตัว

คุณอนุราธา จายาสิงห์ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ขององค์กร Free the Bears ซึ่งทำงานอยู่ในศูนย์แห่งนี้ บอกว่าทางศูนย์จะปล่อยหมีกลับเข้าป่าเพียงครั้งละตัว เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลติดตาม เพราะหากปล่อยไปมากกว่านั้น หมีก็อาจถูกบรรดานักล่าสัตว์ทำร้ายได้ เพราะป่าในกัมพูชายังเป็นอันตรายต่อหมี ทั้งจากน้ำมือของพรานนักล่า และกับระเบิดมากมายที่จะถูกฝังอยู่ตามป่าต่างๆ

การลักลอบค้าสัตว์ป่าถือเป็นธุรกิจผิดกฏหมายที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากการค้ายาเสพติดและค้าอาวุธเถื่อน ซึ่งในเครือข่ายขนาดใหญ่โตทั่วโลกนี้ มีตั้งแต่นักล่าสัตว์ ขบวนการมิจฉาชีพ ไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลประเทศต่างๆ

ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เจ้าหน้าที่ในหลายประเทศแถบเอเชียสามารถช่วยเหลือตัวนิ่มไปได้แล้วกว่า 1,200 ตัว ทั้งในจีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน เนปาลและไทย รวมทั้งเต่าพันธุ์หายากอีกหลายพันตัว

สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่ช่วยเหลือไว้ได้ มักถูกส่งไปตามศูนย์ช่วยเหลือหรือศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ในประเทศที่มีการจับกุม เพราะส่วนใหญ่ไม่สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าสัตว์เหล่านั้นถูกลักลอบนำมาจากประเทศไหนกันแน่

ในประเทศไทย มีศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบค้าสัตว์อยู่ 24 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่แออัดยัดเยียด คุณ Nancy Gibson ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Love Wildlife Foundaton ในประเทศไทย ชี้ว่าการดูแลสัตว์ป่าจำนวนมากตามศูนย์เหล่านั้น ถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับรัฐบาลและองค์กรต่างๆ เพราะไม่ใช่แค่ค่าอาหารเท่านั้น แต่ยังมีค่าซ่อมบำรุง ค่าสร้างกรงสำหรับสัตว์ที่มาใหม่ เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะสัตว์เหล่านั้นต้องการการดูแลไปตลอดชีวิตของพวกมัน บางตัวอาจจะ 3 ปี 10 ปี หรืออาจจะถึง 50 ปี

คุณ Gibson บอกว่าการส่งสัตว์เหล่านั้นไปให้กับสวนสัตว์ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากสวนสัตว์ต่างๆ ก็ต้องแบกรับจำนวนสัตว์ป่าส่วนเกินมากพออยู่แล้ว โดยเฉพาะสัตว์แปลกๆ ที่ผู้คนหาซื้อกันมาเลี้ยง แต่สุดท้ายก็ต้องนำมาปล่อยเพราะเลี้ยงไม่ไหว และว่าคนรักสัตว์จำนวนมากยังคิดว่าการซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยง คือการช่วยเหลือสัตว์เหล่านั้น แต่จริงๆ แล้วยิ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมายมากขึ้น ทางที่ดีจึงอย่าหาซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยง และหากพบเห็นการค้าสัตว์ป่าผิดกฏหมายที่ไหน ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

อย่างไรก็ตาม องค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่าเหล่านี้ต่างทราบดีว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการปราบปรามขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าต่างๆ ก็คือ บรรดาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่คอรัปชั่น และต่างเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่รับรู้ต่อเสียงเรียกร้องมากมายให้จัดการกับปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ว่านี้

รายงานจาก Steve Herman – กัมพูชา / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG