ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วหรือมาในปัจจุบันนี้ ผู้หญิงได้รับผลกระทบใหญ่หลวงจากภาวะสงครามแม้ว่าจะไม่มีส่วนในการสู้รบก็ตาม จากเรื่องราวต่างๆ ที่เล่าสืบต่อกันมาหลายช่วงอายุคน ผู้หญิงต้องใช้สติปัญญาของตนในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่เลวร้าย
คุณ Michelle Scalise Sugiyama อาจารย์สอนวิชามานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Oregon ศึกษาเรื่องเล่าจากอดีตเกี่ยวกับผู้หญิงและสงครามโดยเป็นเรื่องเล่าจากชาวเผ่าพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ ชาวเอสกิโมแห่งขั้วโลกเหนือ ชาวอะบอริจิ้นในออสเตรเลีย ชาว San แห่งแอฟริกาใต้และชนเผ่าต่างๆ ในอเมริกาใต้
คุณ Sugiyama ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาอเมริกันกล่าวว่ามีการวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางจิตวิทยาด้านการสู้รบและช่วงเวลาที่สงครามกำเนิดขึ้นในมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์แต่เชี่ยวชาญชี้ว่ากลับมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผู้หญิงและสงคราม
คุณ Sugiyama อธิบายว่าการวิจัยเน้นศึกษาผู้ชายเป็นหลักเพราะมีบทบาทโดยตรงในการสู้รบโดยเฉพาะมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ล่าสัตว์และเก็บของป่า ผู้หญิงในยุคนั้นตกอยู่ในฐานะเหยื่อของสงครามต้องปกป้องตนเองแต่ไม่เข้าร่วมในการต่อสู้หรือการทำร้ายคนกลุ่มอื่น การศึกษานี้ยังเน้นค้นหาเหตุผลว่าทำไมผู้ชายจึงใฝ่สงครามและผลกระทบจากการหล่อหลอมทางจิตวิทยาให้ผู้ชายใฝ่การสู้รบ
คุณ Sugiyama ชี้ว่าเรื่องเล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากเหล่านี้ให้ข้อมูลที่แสดงถึงรูปแบบของพฤติกรรมในระยะยาวที่ข้อมูลทางมานุษยวิทยาอธิบายไม่ได้ แม้ผู้ชายจะล้มตายจากการสู้รบมากกว่าผู้หญิงแต่ผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในหลายๆ ทาง
คุณ Sugiyama ชี้ว่าผลพวงของสงครามหรือการสู้รบไม่จบเพียงแค่การเสียชีวิตแต่ผู้หญิงและเด็กอาจจะถูกจับตัวไป ในขณะที่ผู้ชายมักจะถูกปลิดชีวิตแทนที่จะถูกจับเป็น
นักมานุษยวิทยาอเมริกันชี้ว่าในภาวะสงคราม ผู้หญิงเมื่อถูกศัตรูจับตัวไปจากหมู่บ้านจะพยายามหาทางหนีกลับหมู่บ้านของตน ก่อนจะหนีก็ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางและลักษณะภูมิประเทศระหว่างทาง นอกจากนี้ยังต้องเข้าใจลักษณะนิสัยใจคอของศัตรูว่าปฏิบัติต่อตัวประกันอย่างไร มีการยอมรับให้คนต่างเผ่าที่ถูกจับตัวหรือยอมให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือไม่หรือมีการทรมานหรือข่มขืนผู้ถูกจับตัวหรือไม่
ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้หญิงที่ถูกจับตัวไปพิจารณาดูสถานการณ์ของตนเองว่าจะต่อต้านผู้จับกุมตัวหรือจะยอมทำตามเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด นอกจากนี้ ผู้หญิงมักใช้เพศสัมพันธ์เป็นอาวุธเพื่อหาทางหนี
คุณ Sugiyama กล่าวว่าผู้หญิงที่ถูกศัตรูจับตัวไปมักกลายเป็นภรรยาของศัตรู เธอจะพยายามเสแสร้งว่ารักสามีคนใหม่ เมื่อมีโอกาสหนี เธอจะใช้เพศสัมพันธ์เป็นอาวุธเพื่อให้สามีใหม่ตกหลุมพรางก่อนจะสังหารฝ่ายชายหรือหากสามีคนเดิมถูกจับตัวไปด้วย ก็อาจจะร่วมมือกันสังหารศัตรูก่อนจะพากันหนีกลับหมู่บ้าน
คุณ Sugiyama อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาชี้ว่าภาวะที่เรียกว่า Stockholm Syndrome เป็นภาวะที่ตัวประกันพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับศัตรูในระหว่างการถูกจับกุมตัว คุณ Sugiyama กล่าวว่าตนแปลกใจมากที่ค้นพบว่าวงการแพทย์ไม่ถือว่าภาวะนี้เป็นความบกพร่องทางจิตวิทยา ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นกระบวนการของการปรับตัวทางจิตวิทยาเพื่อเอาตัวรอด ผู้ถูกจับกุมตัวเห็นว่าตนจะมีโอกาสรอดมากขึ้นหากเออออกับผู้จับกุมตัวและสังคมของศัตรูเพื่อตนจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมใหม่
คุณ Sugiyama กล่าวว่าตนเกิดความสงสัยถึงสภาวะทางจิตวิทยาของเด็กหญิงชาวไนจีเรียหลายร้อยคนที่ถูกกลุ่มติดอาวุธ Boko Haram จับตัวไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาอเมริกันกล่าวว่าเมื่อผู้หญิงถูกจับกุมตัวไปโดยศัตรู พวกเธอจะตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ยากลำบากมากเพราะไม่รู้อนาคตตนเอง ไม่รู้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่หรือจะต้องอยู่ในสังคมของคนที่เป็นศัตรูไปตลอดชีวิตหรือจะหนีกลับบ้านเกิดได้หรือไม่