Your browser doesn’t support HTML5
เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พจนานุกรม Oxford English Dictionary หรือ OED เพิ่มคำศัพท์พร้อมกับความหมายใหม่อีก 1,000 คำ เพื่อปัดฝุ่นความเข้าใจเรื่องความหมายของคำศัพท์ กับบริบทใหม่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
พจนานุกรม Oxford English Dictionary มีคำศัพท์ในพจนานุกรมทั้งสิ้น 855,000 คำ โดยพจนานุกรมแบบเล่มฉบับล่าสุด ได้รับการปรับปรุงไปเมื่อปี ค.ศ. 2000 และต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการปรับปรุงพจนานุกรมให้เสร็จสิ้น แต่สำหรับเว็บไซต์พจนานุกรมออนไลน์ของ Oxford จะมีการปรับปรุง 4 ครั้งต่อปี
Katherine Connor Martin หัวหน้าฝ่ายพจนานุกรมในสหรัฐฯ บอกว่า มันเป็นเรื่องน่าขันที่เราพูดว่าเป็นการบรรจุคำศัพท์ใหม่ๆ ทั้งที่เราเคยได้ยินหรือใช้กันมานานแล้ว แต่คำศัพท์เหล่านี้กลับไม่ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมอย่างเป็นทางการมาก่อนเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ คำศัพท์ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เช่น brencheese ที่หมายถึง การรับประทานชีสและขนมปังไปพร้อมกัน ถูกใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1665 deathshildy ที่หมายถึง คนที่กระทำความผิดร้ายแรงและถูกตัดสินโทษประหาร
พจนานุกรม Oxford ยังเพิ่มคำว่า hip-pop เข้าไปในพจนานุกรม ซึ่งหมายถึงแนวเพลงที่ผสมความเป็น hip-hop กับเพลงป๊อบเข้าไป นำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1985 ในรูปคำว่า hip-hip pop ก่อนจะลดรูปมาเป็น hip-pop เมื่อปี 1991 ในรายงานบนหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงแรพเปอร์ M.C. Hammer
นอกจากนี้ ยังมีคำว่า Imposter syndrome เริ่มต้นใช้ในปี 1982 เมื่อนิตยสาร Vogue ตีพิมพ์เรื่องราวของผู้หญิงที่มีภาวะที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง
ส่งท้ายด้วยการเพิ่มคำศัพท์ที่ทันกับยุคสมัยมากขึ้น อาทิ binge-watching ซึ่ง binge แปลว่า การทำกิจกรรมบางอย่างมากเกินไป ในบริบทนี้เมื่อรวมกับคำว่า watch จึงให้ความหมายว่า ภาวะที่คนติดการชมซีรีส์มากไป ชมแบบหามรุ่งหามค่ำ
spoiler alert ที่หมายถึงการเปิดเผยเรื่องราวสำคัญบางอย่างก่อนที่คนอื่นจะได้รับรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในกรณีของภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ หรืองานประพันธ์
และ microaggression ซึ่งแปลว่า การคุกคามผู้อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ ในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเริ่มต้นใช้จาก Chester M. Pierce นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี 1970 ที่เรียกปรากฏการณ์ของคนที่ไปคุกคามคนที่แตกต่างโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยมีบรรทัดฐานจากกรอบความคิดเดิมๆ หรือ stereotype
เช่น ฝรั่งเห็นคนเอเชียพูดภาษาอังกฤษชัด ก็มักจะชมว่า “คุณพูดภาษาอังกฤษเก่งจังเลย” ซึ่งอาจเป็นเจตนาในการชื่นชม แต่คนฟังอาจคิดว่านั่นคือการดูถูก ว่าคนเอเชียมักพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก