วิเคราะห์ผู้นำสหรัฐฯกับความสัมพันธ์ระดับบุคคลแบบวางตัวอยู่ในกรอบและรอบคอบในการแสดงอารมณ์

President Barack Obama and Israeli Prime Minister Benjamin Netanyahu shake hands during their meeting in the Oval Office of the White House in Washington.

นักวิเคราะห์บอกว่าประธานาธิบดีโอบามามักรักษาระยะห่าง เข้าถึงยากกว่า และไม่แสดงอารมณ์เท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นๆ อีกหลายคน

Your browser doesn’t support HTML5

Obama

นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโอบามากับอิสราเอลถูกพูดถึงมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายครั้งผู้สังเกตการณ์มองว่าอเมริกากับอิสราเอลที่เป็นมิตรกันมานานกำลังเข้าช่วงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น

เสียงวิจารณ์ลักษณะนั้นมุ่งเป้าไปที่ทำเนียบขาวและบุคลิกของประธานาธิบดีโอบามา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวต่อสภาอเมริกันในฐานะแขกของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเขาใช้โอกาสนั้นพูดตำหนิความพยายามของสหรัฐในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน

ผู้นำอิสราเอลกล่าวว่าอเมริกาไม่แข็งขันพอในการกดดันอิหร่าน นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจดจำสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิสราเอล

หนึ่งในนั้นคือ Aaron David Miller อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศด้านตะวันออกกลาง สมัยที่ George W Bush เป็นประธานาธิบดี เขากล่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตีเนทันยาฮู ไม่ใช่คู่ผู้นำสหรัฐและอิสราเอลคู่แรกที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่แรกที่ไม่สามารถจะก้าวข้ามผ่านปัญหาและกลับมาสานต่อมิตรภาพที่มีประสิทธิภาพได้

Aaron David Miller วิเคราะห์ว่า ปัญหาความสัมพันธ์ของผู้นำคู่นี้น่าจะมาจากบุคลิกที่แตกต่างกัน สภาพการเมืองที่ไม่เหมือนกัน และนโยบายที่ไปกันคนละทาง ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นส่วนผสมที่สมบูรณ์แบบสำหรับพายุแห่งความสัมพันธ์

อดีตที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศผู้นี้กล่าวด้วยว่า ส่วนผสมที่ไม่เข้ากันของประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู นำมาสู่ช่วงที่เลวร้ายที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิสราเอลในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน

นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง Matthew Dallek อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย George Washington กล่าวว่า ถ้าสมมุติว่าผู้นำทั้งสองมีความสนิทสนมส่วนตัวกันดีกว่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูคงจะไม่อ่อนแอขนาดนี้ในตอนนี้

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ความเป็นเพื่อนกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐกับหมู่ผู้นำโลกอื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญของนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤต

เขาบอกว่าตนไม่อยากพูดกว่าเกินความจริงเรื่องความสำคัญในระดับบุคคลระหว่างผู้นำโลก เพราะบางทีมันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาประสานความแตกต่างด้านนโยบายได้ แต่ต้องยอมรับว่า หากผู้นำประเทศต่างๆ ต้องคุยเรื่องหนักๆ กัน ความเป็นเพื่อนกันในระดับบุคคลสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้

อาจารย์ Matthew Dallek กล่าวด้วยว่าประธานาธิบดีโอบามามีแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะวางตัวอยู่ในกรอบและรอบคอบในการแสดงอารมณ์

Your browser doesn’t support HTML5

วิเคราะห์ผู้นำสหรัฐฯกับความสัมพันธ์ระดับบุคคลแบบวางตัวอยู่ในกรอบและรอบคอบในการแสดงอารมณ์

ในช่วง 6 ปีที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามา ไม่ได้เป็นที่รู้จักในเรื่องการสร้างเพื่อนสนิทที่เป็นผู้นำโลกด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเขากับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด แคมเมรอน จะสนิทสนมกัน ระดับที่ผู้นำสหรัฐเรียกนายกฯ แคมเมรอน ว่า “bro” ซึ่งเป็นคำสั้นๆ ของ brother หรือในที่นี้ก็คือคำว่า “น้องชาย” เพราะประธานาธิบดีโอบามาอายุมากกว่า 5 ปี

แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Bibi ประธานาธิบดีโอบามาเคยพูดถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าเป็นแบบติดต่อกันเรื่องธุระและกิจการของประเทศ ซึ่งที่จริงความสนิทกันในระดับบุคคลของทั้งคู่ก็เป็นไปในทำนองนั้น

Aaron David Miller อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ บอกว่าผู้นำโลกที่ประสบความสำเร็จจะเป็นคนที่รักเกมการเมืองและรักที่จะติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น

เขาบอกว่า เวลาที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องการสร้างความสัมพันธ์กับใคร เขาสามารถทำได้ดีทีเดียว คำถามคือผู้นำสหรัฐผู้นี้ชอบที่จะเข้าหาคนอื่นหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า ประธานาธิบดีโอบามามักรักษาระยะห่าง เข้าถึงยากกว่า และไม่แสดงอารมณ์เท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นๆ บางคน

รายงานโดย Aru Pande และเรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท ท่านสามารถฟังรายละเอียดของข่าวชิ้นนี้จากคลิปรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ