สหรัฐฯ จะใส่ชื่อ 'เกาหลีเหนือ' กลับสู่บัญชีรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้าย

Secretary of State Rex Tillerson (L) listens as President Donald Trump announces that the United States will designate North Korea a state sponsor of terrorism, during a cabinet meeting at the White House, Nov. 20, 2017, in Washington.

ขณะนี้สหรัฐฯ ระบุชื่อสามประเทศ คืออิหร่าน ซีเรีย และซูดาน ว่าให้ความสนับสนุนการก่อการร้าย

Your browser doesn’t support HTML5

สหรัฐจะใส่ชื่อเกาหลีเหนือกลับสู่บัญชีรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้าย

รัฐบาลสหรัฐฯ คาดว่าการใส่ชื่อเกาหลีเหนือกลับสู่บัญชีรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้าย จะสร้างความกดดันทั้งทางการทูตและการเงินต่อรัฐบาลกรุงเปียงยางมากขึ้น

โดยเมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า เรื่องนี้ควรจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และว่ารัฐบาลกรุงเปียงยางเป็นระบอบการปกครองที่เป็นฆาตกร

ขณะนี้บัญชีรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ประกอบด้วย 3 ประเทศ คือ อิหร่าน ซีเรีย และซูดาน

เริ่มแรกเมื่อปี พ.ศ. 2531 นั้น สหรัฐฯ เคยระบุว่าเกาหลีเหนือเป็นประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้ายมาก่อน หลังจากที่สายลับเกาหลีเหนือระเบิดเครื่องบินโดยสารของเกาหลีใต้เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 115 คน

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 สหรัฐฯ ได้ถอดเกาหลีเหนือออกจากบัญชีนี้ หลังจากที่เปียงยางปฏิบัติเข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดของข้อตกลงเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม การเจรจาหกฝ่ายเกี่ยวกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนี้ได้ล้มเหลวลงหลังจากนั้นไม่นาน และเกาหลีเหนือก็ประกาศว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำขึ้นนั้นไม่มีผล รวมทั้งยังทดลองอาวุธนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีกห้าครั้ง และเร่งพัฒนาโครงการจรวดขีปนาวุธด้วย

ตามกฎหมายของสหรัฐฯ การจะระบุชื่อประเทศใดว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ประเทศดังกล่าวจะต้องให้การสนับสนุนการก่อการร้ายซ้ำหลายครั้ง

และถึงแม้การสนับสนุนการก่อการร้ายของเกาหลีเหนือจะยังไม่ชัดเจน แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ชี้ว่า เกาหลีเหนือมีบทบาทในการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ต่อเป้าหมายทั้งในสหรัฐฯ และเกาหลีใต้หลายครั้ง รวมทั้งการเจาะล้วงข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทภาพยนตร์ Sony เมื่อ 3 ปีที่แล้วด้วย

รวมทั้งการที่นายคิม จอง อึน บงการให้ลอบสังหารนายคิม จอง นัมลูกพี่ลูกน้องของตนในมาเลเซียในปีนี้

แต่ดูเหมือนว่าเหตุผลสำคัญที่สุดน่าจะมาจากการที่ครอบครัวของนาย Otto Warmbier นักศึกษาอเมริกันที่ถูกตัดสินจำคุกในเกาหลีเหนือและภายหลังถูกปล่อยตัวกลับสหรัฐฯ ในอาการโคม่า และเสียชีวิตในท้ายที่สุด ได้กดดันวุฒิสมาชิกของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับริกันรวม 12 คน ให้ทำเรื่องขอให้กระทรวงการต่างประเทศนำชื่อเกาหลีเหนือกับไปใส่ในรายชื่อประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้ายอีกครั้ง

ทางด้านนาย Christopher Hill อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และทูตพิเศษสำหรับการเจรจากับเกาหลีเหนือ มีความเห็นว่า มาตรการลงโทษด้วยการนำชื่อเกาหลีเหนือใส่กลับลงในรายชื่อประเทศผู้ก่อการร้ายนี้ อาจจะไม่ส่งผลในทางรูปธรรม แต่เรื่องดังกล่าวน่าจะส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า