วิเคราะห์: เกาหลีเหนือกลับมาใช้ท่าทีเดิมต่อการซ้อมรบร่วมสหรัฐฯ - เกาหลีใต้

A TV shows a file image of North Korean leader Kim Jong Un, third from left, and South Korean President Moon Jae-in, second from left, during a news program at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Tuesday, July 27, 2021. North and South…

เมื่อเดือนมิถุนายน นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ สั่งให้เกาหลีเหนือเตรียมพร้อมสำหรับทั้งการเจรจาและการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือระบุเป็นนัยว่าอาจเปิดรับท่าทีจากโลกภายนอกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือกลับแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการที่เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ซ้อมรบร่วมกัน โดยเมื่อวันพุธ พลเอกคิม ยอง ชอล ของเกาหลีเหนือ เตือนว่า สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะเผชิญกับ “วิกฤติด้านความมั่นคงครั้งรุนแรง” เนื่องจาก “ตัดสินใจผิดพลาด” ที่จะจัดการซ้อมรบร่วมครั้งนี้

หนึ่งวันก่อนหน้านี้ นางคิม โย จอง น้องสาวของผู้นำเกาหลีเหนือ ก็ระบุว่า การตัดสินใจของเกาหลีใต้นั้นไม่ซื่อสัตย์ และการซ้อมรบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เกาหลีเหนือต้องเพิ่มศักยภาพในการพร้อมจู่โจมล่วงหน้ามากขึ้น เกาหลีเหนือยังไม่ยอมเจรจาทางโทรศัพท์กับเกาหลีใต้ ที่ติดต่อโดยใช้สายด่วนระหว่างประเทศเมื่อวันอังคารและวันพุธด้วย

แม้เกาหลีเหนือจะโทษว่าสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น แต่แนวทางท่าทีของเกาหลีเหนือดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า เกาหลีเหนือมีท่าทีทั้งในเชิงข่มขู่และทั้งการต้อนรับการเจรจาเพื่อกดดันสหรัฐฯ และเกาหลีใต้


ท่าทีระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ อาจไม่ผ่อนคลายอีกต่อไปหรือไม่?

เมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ประกาศว่า ผู้นำทั้งสองประเทศแลกเปลี่ยนจดหมายกัน ซึ่งถือเป็นการติดต่อระดับสูงที่สุดระหว่างทั้งสองประเทศในช่วงเวลาเกือบสองปี โดยหลายฝ่ายหวังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะปูทางไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือได้

ผู้นำของสองเกาหลีตัดสินใจกลับมาเปิดสายด่วนทางโทรศัพท์ระหว่างสองประเทศอีกครั้ง หลังจากเกาหลีเหนือตัดสายดังกล่าวไปเมื่อปีที่แล้ว โดยสื่อทางการเกาหลีเหนือชื่นชมการกลับมาเปิดสายด่วนครั้งนี้ว่า เป็นการกลับมาฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม สื่อเกาหลีเหนือกลับไม่รายงานบทความดังกล่าวในประเทศเลย

เรเชล มินยอง ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีประจำสถาบันคลังสมอง Stimson Center ในกรุงโซล ระบุว่า การที่สี่อเกาหลีเหนือรายงานประเด็นดังกล่าวต่อโลกภายนอกแต่ไม่รายงานให้ประชาชนในประเทศ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เกาหลีเหนือไม่เคยมีแนวคิดร่วมมือกับเกาหลีใต้อย่างจริงจัง และเกาหลีเหนือจับตามองบทบาทของเกาหลีใต้ในการซ้อมรบร่วมอย่างแน่นอน

FILE PHOTO: Members of South Korea and U.S. Special forces take part in a joint military exercise conducted by South Korean and U.S. special forces troops at Gunsan Air Force base in Gunsan

จุดตึงเครียด

เกาหลีเหนือเตือนเกาหลีใต้ไม่ให้จัดซ้อมรบร่วมประจำปี โดยในปีนี้ ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ เผชิญแรงกดดันมากขึ้น เพราะเขามีวาระดำรงตำแหน่งเหลือไม่ถึงหนึ่งปี และต้องการสร้างผลงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ นายมุนจะต้องจัดการซ้อมรบดังกล่าวเพื่อถ่ายโอนอำนาจการควบคุมกองทัพเกาหลีใต้ในช่วงสงคราม จากในปัจจุบันที่สหรัฐฯ มีอำนาจดังกล่าวให้เป็นของเกาหลีใต้ โดยผู้นำเกาหลีใต้ตั้งเป้าบรรลุการถ่ายโอนอำนาจนี้ภายในช่วงวาระที่เหลือของเขา

อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจการควบคุมกองทัพในช่วงสงครามจากสหรัฐฯ คืนให้กับเกาหลีใต้นี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเกาหลีใต้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงผลงานของกองทัพเกาหลีใต้ระหว่างการร่วมซ้อมรบด้วย

การร่วมซ้อมรบที่ลดขนาดลง

การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ลดขนาดลงหรือในบางปีก็ยกเลิกไป โดยก่อนหน้านี้เพื่อเป็นการรักษาโอกาสทางการทูตเอาไว้ แต่หลังจากนั้นก็มีเหตุผลเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

สื่อเกาหลีใต้หลายฉบับรายงานว่า การซ้อมรบในเดือนสิงหาคมนี้จะมีผู้เข้าร่วมน้อยกว่าปกติเนื่องจากการระบาดของไวรัส โดยการซ้อมรบในปัจจุบันเป็นการซ้อมกับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก โดยผู้เข้าซ้อมรบจะต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่คอมพิวเตอร์จำลองขึ้น

การซ้อมรบเพื่อป้องกันตัว

อย่างไรก็ตาม นางคิม โย จอง ระบุในแถลงการณ์สัปดาห์นี้ว่า เกาหลีเหนือมองการซ้อมรบร่วมว่าเป็นพฤติกรรมคุกคาม ไม่ว่าจะจัดในขนาดใดก็ตาม

เมื่อวันอังคาร นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตอบโต้คำกล่าวของน้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า การซ้อมรบนี้เป็นไปเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น และสหรัฐฯ สนับสนุนการเจรจาระหว่างทั้งสองเกาหลี และจะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนต่อไปเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว

South Korea Koreas US

ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น?

แม้เกาหลีเหนือจะกล่าวเป็นนัยว่าอาจมีความตึงเครียดมากขึ้น แต่แถลงการณ์ของเกาหลีเหนือในสัปดาห์นี้กลับไม่ได้ระบุถึงภัยคุกคามใดเป็นพิเศษ

เจ้าหน้าที่องค์กรข่าวกรองของเกาหลีใต้กล่าวต่อสภาเกาหลีใต้ว่า พวกเขาคาดว่าเกาหลีเหนือจะทดสอบขีปนาวุธที่ติดตั้งในเรือดำน้ำในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า เกาหลีเหนืออาจเริ่มจากการแสดงท่าทียั่วยุที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป เช่น ยุบองค์กรรัฐที่มีหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี

เมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ผู้นำเกาหลีเหนือเตือนว่า เขาจะยกเลิกการหยุดยิงขีปนาวุธพิสัยไกลหรือการทดสอบนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนืออาจยังไม่ตัดสินใจดำเนินการ ที่อาจทำให้ประเทศถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและทางการทูตไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส และจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม

เลฟ-เอริค อีสลีย์ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอีฮวาในกรุงโซล ระบุว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือต่อการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้นั้น อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในประเทศมากกว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงสหรัฐฯ โดยโทษว่าการซ้อมรบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังจากที่ใช้มาตรการล็อคดาวน์มานาน