รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศในวันจันทร์ถึงความตั้งใจที่จะเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์และหาทางชักชวนเกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่ารัฐบาลกรุงเปียงยางจะแสดงท่าทีข่มขู่คุกคาม เพื่อให้ยกเลิกแผนการร่วมซ้อมรบกับกองทัพสหรัฐฯ ก็ตาม
เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คิม โย จอง น้องสาวผู้ทรงอิทธิพลของ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ออกคำแถลงผ่านสื่อรัฐบาลเพื่อเตือนเกาหลีใต้ว่า การเดินหน้าร่วมซ้อมรบกับสหรัฐฯ จะส่งผลเสียต่อความพยายามฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองเกาหลี โดยคำแถลงดังกล่าวทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงใจของกรุงเปียงยาง ที่เพิ่มตัดสินใจกลับมาเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกรุงโซล ที่ถูกปิดไปเมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ออกมาให้ความเห็นในวันจันทร์ว่า ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับ ช่วงเวลา จำนวนเจ้าหน้าที่ทหาร และรายละเอียดของแผนการซ้อมรบนี้ และหน่วยงานของทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ยังคงต้องปรึกษาเพื่อหาข้อสรุปในอีกหลายประเด็นก่อน
บู เซิง-ชาน โฆษกกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ยังได้ย้ำสารจากคำแถลงก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลกรุงโซลและรัฐบาลกรุงวอชิงตัน ยังกำลังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาวะการระบาดของโควิด-19 ความพยายามด้านการทูตในการจำกัดแผนพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และความพร้อมทางทหารของทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐฯ เป็นต้น
ลี จอง-จู โฆษกกระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้ กล่าวว่า รัฐบาลกรุงโซลเห็นว่า การกลับมาเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างรัฐบาลทั้งสองอีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่หยุดชะงักมานาน และเกาหลีใต้ยังคงเดินหน้าหาทางโดยไม่ลดละ เพื่อให้เกาหลีเหนือยินยอมกลับคืนสู่โต๊ะเจรจาโดยเร็วที่สุดอยู่
ทั้งนี้ เกาหลีเหนือมักมองการร่วมซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ว่าเป็นการฝึกซ้อมการรุกราน และมักตอบโต้ด้วยการทดสอบการยิงขีปนาวุธมาโดยตลอด
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ตัดสินใจยกเลิก หรือลดขนาดการซ้อมรบไปบ้าง เพื่อเอื้อให้ความพยายามด้านการทูตในการยุติวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ หรือไม่ก็เพราะสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19
ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เริ่มกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง หลังกรุงเปียงยางกลับมาติดต่อกับกรุงโซลและสหรัฐฯ อีกครั้งเมื่อปี ค.ศ. 2018 เพื่อถกประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตน ก่อนที่ เกาหลีเหนือจะตัดการสื่อสารกับเกาหลีใต้ เมื่อความพยายามด้านการทูตกับสหรัฐฯ ที่จะคลี่คลายความตึงเครียดจากโครงการนิวเคลียร์หยุดชะงักลงในปี ค.ศ. 2019
และแม้เมื่อวันอังคารที่แล้ว ทั้งสองประเทศกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการที่ถูกปิดไปเมื่อ 13 เดือนก่อน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความหวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจะมีโอกาสกลับมาดีขึ้นได้อีก ผู้เชี่ยวชาญบางรายแสดงความเคลือบแคลงสงสัยว่า กรุงเปียงยางเพียงต้องการพยายามผลักดันให้กรุงโซลคุยกับสหรัฐฯ ให้ยอมลดท่าทีและผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ให้กับตน ระหว่างที่การเจรจาทางการทูตประเด็นนิวเคลียร์ยังค้างคาอยู่