นักวิทยาศาสตร์สองคนคว้ารางวัลโนเบลสาขาการเเพทย์ในวันจันทร์ จากการค้นพบที่เปิดทางให้เกิดการพัฒนาวัคซีน mRNA ต้านโควิด-19 และวัคซีนอื่น ๆ ในอนาคต
คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลประกาศมอบรางวัลสาขาการเเพทย์ให้เเก่ ดริว ไวส์แมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ และศาสตราจารย์คาทาลิน คาริโคแห่งมหาวิยาลัยซาแกนส์ (Sagan’s University) ที่ประเทศฮังการี ผู้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ด้วยเช่นกัน
คณะกรรมการกล่าวว่าการค้นพบของทั้งคู่ "เปลี่ยนความเข้าใจขั้นพื้นฐานเรื่องปฏิกิริยาของ mRNA ต่อระบบภูมิต้านทางของเรา"
"ผู้รับรางวัลช่วยทำให้เกิดอัตราการพัฒนาวัคซีนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในช่วงที่โลกเผชิญกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่" คณะกรรมการกล่าว
ตามปกติการสร้างวัคซีนต้องมีการเพาะเชื้อไวรัสในเซลล์ และบ่อยครั้งที่อาศัยกระบวนการให้ไวรัสเติบโตในไข่ไก่ จากนั้นจึงผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ก่อนนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาสูตรวัคซีน ตามรายงานของเอพี
เทคนิค mRNA ทำให้กระบวนการดังกล่าวเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเริ่มจากการใช้รหัสพันธุกรรมเล็ก ๆ ที่มีข้อมูลการสร้างโปรตีน เมื่อเลือกโปรตีนไวรัสที่ต้องการอย่างถูกต้อง ร่างกายมนุษย์ก็จะทำหน้าที่เสมือนโรงงานวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้นกันโรค
นายเเพทย์พอล ฮันเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย (University of East Anglia) กล่าวว่าวัคซีน mRNA เป็น "ตัวเปลี่ยนเกม" ในการต่อสู้กับการระบาดของโคโรนาไวรัส และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนหลายล้านคนรอดชีวิต
- ที่มา: เอพี