องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน มีประสิทธิผลลดลงในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 แต่ยังคงให้ระดับป้องกันอย่างมีนัยสำคัญ ตามรายงานของรอยเตอร์
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อะดานอม เกเบรเยซุส ระบุในวันอังคารว่า โควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้และฮ่องกงเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และแพร่ระบาดไปใน 77 ประเทศทั่วโลกขณะนี้ ไม่ควรถูกมองข้ามว่าเป็นเชื้อโควิดที่ไม่รุนแรง เพราะโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดในอัตราที่เราไม่เคยพบมาก่อนในโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้ระบบสาธารณสุขไม่พร้อมรับมือกับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากได้
ผอ.ใหญ่อนามัยโลก ยังกล่าวด้วยว่า มีหลักฐานมากขึ้นที่บ่งชี้ว่า ประสิทธิผลของวัคซีนต่อโควิดกลายพันธุ์ลดลงเล็กน้อยในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมทั้งมีประสิทธิผลลดลงในการป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยเล็กน้อยด้วยเช่นกัน
ท่าทีขององค์การอนามัยโลก มีขึ้นหลังจากการศึกษาที่เก็บข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจัดทำโดย South African Medical Research Council and Discovery Health หน่วยงานด้านประกันสุขภาพของแอฟริกาใต้ ที่เปิดเผยเมื่ออังคาร ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ชนิด 2 โดส มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในแอฟริกา แต่ยังให้ปกป้องภาวะอาการป่วยหนักจากโควิดได้
การศึกษาล่าสุดจากแอฟริกาใต้ ชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 แบบ 2 โดสของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค มีระดับการป้องกันการติดเชื้อที่ 33% แต่ป้องกันการป่วยหนักได้ 70% และถึงแม้ว่ามีโอกาสที่ผู้ป่วยโควิดจะกลับมาติดเชื้อซ้ำภายใต้สถานการณ์การระบาดที่เป็นอยู่ แต่อัตราการเจ็บป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อในวัยผู้ใหญ่ ต่ำกว่าช่วงการระบาดครั้งก่อนๆ ที่ระดับ 29%
การศึกษาล่าสุดนี้ เก็บข้อมูลจากผู้ติดเชื้อโควิดราว 211,000 รายในแอฟริกาใต้ ช่วง 15 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม ซึ่งราว 78,000 รายในนั้นเชื่อว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนในแอฟริกาใต้
ในเรื่องนี้ ดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลก กล่าวยืนยันว่า วัคซีนไม่ได้ล้มเหลวและยังให้การปกป้องผู้รับวัคซีนในระดับหนึ่ง และว่าการศึกษาดังกล่าวชี้ว่าวัคซีนให้การป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนได้ พร้อมกันนี้ ยังประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าที่โควิดโอมิครอนจะเอาชนะโควิดกลายพันธุ์เดลตา ขึ้นมาเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดใหญ่ทั่วโลกได้
ส่วนประเด็นการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ผอ.ใหญ่อนามัยโลก ย้ำว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิจะมีบทบาทสำคัญในการลดการระบาดของโควิด-19 และกลุ่มเสี่ยงสูงควรที่จะได้รับวัคซีนก่อน ขณะที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยมากพอถึงประสิทธิภาพของวัคซีนบูสเตอร์ในขณะนี้
อีกด้านหนึ่ง ทางบริษัทไฟเซอร์ เผยการศึกษาเมื่อวันอังคารว่า การทดสอบยาต้านไวรัสโควิด-19 Paxlovid ของไฟเซอร์ มีประสิทธิผลช่วยลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยหนักและการเสียชีวิตที่ระดับ 89% หลังจากได้รับยาภายใน 3 วันที่พบอาการของโควิด-19 และลดความเสี่ยงการป่วยหนักได้ 88% หากได้รับยาภายใน 5 วันที่พบอาการ ซึ่งรวมถึงโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนด้วย โดยไฟเซอร์เตรียมยื่นผลการศึกษาเบื้องต้นนี้เพื่อขออนุมัติการใช้ยาดังกล่าวกับทางสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯต่อไป
เนื้อหาบางส่วนจากสำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์