รายงาน UN แนะมาตรการลดภาวะโลกร้อนควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจ ก่อนการประชุมสภาพภูมิอากาศโลกที่นิวยอร์ค

Your browser doesn’t support HTML5

New Climate Economy

รายงานชิ้นสำคัญของสหประชาชาติ ที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก่อนหน้าการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกในวันอังคารนี้ ชี้ให้เห็นถึงการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดภาวะโลกร้อน และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน

รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศต่างๆ เร่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป โดยเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ Ban Ki Moon กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจโลก โดยรายงานชิ้นใหม่ของสหประชาชาติได้ระบุถึงรูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

รายงานดังกล่าวบอกว่าขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง รายงานยังคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ 2030 ประชากรโลกอีกมากกว่า 1,000 ล้านคนจะอพยพเข้าไปอยู่ในเขตนาคร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องจัดทำนโยบายและเพิ่มงบประมาณในด้านระบบพลังงาน การพัฒนาเขตนาครอย่างยั่งยืน และการจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วง 15 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในเขตเมืองใหญ่

นาย Felipe Calderon อดีตปธน.เม็กซิโก และหนึ่งในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศโลก ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า การวางนโยบายและการลงทุนในช่วง 15 ปีจากนี้ จะเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของโลก นาย Calderon กล่าวว่าหากไม่รีบเร่งวางนโยบายเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมกันเสียตั้งแต่ช่วงนี้ ก็จะยิ่งยากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน ในการปรับเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาเชื้อเพลิงคาร์บอนไปเป็นการพึ่งพาพลังงานสะอาด

รายงานระบุว่า การวางผังเมืองให้มีขนาดกะทัดรัดและมีระบบขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลาง จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางศก. ขณะที่ระดับมลพิษก็ไม่สูงมาก นอกจากนี้การฟื้นฟูที่ดินการเกษตรที่เสื่อมสภาพก็จะช่วยให้สามารถผลิตอาหารป้อนประชากรจำนวนมากขึ้นหลายล้านคนได้ และที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดต่ำลง เพื่อดึงดูดให้องค์กรธุรกิจหันมาลงทุนในด้านนี้มากขึ้น

คุณ Jeremy Oppenheim ผู้อำนายการฝ่ายโครงการของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและสภาพภูมิอากาศโลก ชี้ว่าเวลานี้ต้นทุนการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ลดลงจากช่วง 6 ปีที่แล้วราว 90% ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาสนใจกับการผลิตพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง จึงถือเป็นช่วงที่ดีที่รัฐบาลประเทศต่างๆจะเร่งจัดทำนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด

รายงานของสหประชาชาติชิ้นนี้แนะนำให้รัฐบาลค่อยๆ ลดการอุดหนุนอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ใช้นโยบายเก็บภาษีคาร์บอน และสนับสนุนการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด โดยประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะถูกหยิบยกมาหารืออีกครั้งในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติในวันอังคารที่ 23 ก.ย นี้ที่นครนิวยอร์ค

รายงานจาก Rosanne Skirble ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล