นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแนวทางใหม่รักษา 'มะเร็งตับ' โดยใช้เทคโนโลยีนาโน

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิทยาศาสตร์พัฒนาแนวทางใหม่รักษา 'มะเร็งตับ' โดยใช้เทคโนโลยีนาโน

Your browser doesn’t support HTML5

New Cancer Treatment

ปัจจุบันวิธีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ มีเพียงแค่การเปลี่ยนถ่ายตับ หรือนำส่วนของตับที่มีเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายให้หมด ซึ่งทั้งสองวิธีนั้นต้องอาศัยการผ่าตัดใหญ่ และผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับจะต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา

ขณะที่การใช้เคมีบำบัดและการฉายรังสีนั้นอาจทำให้เซลล์ที่แข็งแรงรอบๆ เซลล์มะเร็ง ได้รับความเสียหายไปด้วย

แต่ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรัฐมิสซูรี่ในสหรัฐฯ กำลังพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งตับ เพื่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยใช้สารประกอบทางเคมีที่สกัดจากพืช และไม่เป็นพิษ

ศาสตราจารย์ Kattesh Katti จาก University of Missouri School of Medicine เป็นผู้นำคณะนักวิจัยที่ทดลองใช้เทคโนโลยีนาโนในการกำหนดเป้าหมายและทำลายเซลล์เนื้องอกในหนูทดลองและเซลล์ของมนุษย์ในสิ่งแวดล้อมเทียม

ศาสตราจารย์ Katti บอกว่าวิธีที่ว่านี้ฟังดูแล้วอาจเหลือเชื่อ แต่ว่ากำลังมีความก้าวหน้าไปมากในด้านการบำบัดเซลล์เนื้องอก และการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง

นักวิจัยใช้อนุภาคของทองคำขนาดเล็กจิ๋วที่ถูกห่อหุ้มในเครื่องป้องกันที่ทำจากต้นไม้จำพวกอะคาเซีย หรือชะอม อนุภาคทองคำดังกล่าวจะดึงดูดเซลล์ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือเนื้องอก ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความไวต่อความร้อนมากกว่าเซลล์ที่แข็งแรง

ศาสตราจารย์ Kattesh Katti กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับจะได้รับอนุภาคนาโนของทองคำนี้เข้าไปในร่างกายเป็นเวลาสองชั่วโมงก่อนที่จะรักษาด้วยวิธีฉายรังสี จากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้ ถือเป็นวิธีที่ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ป่วย ไม่มีกัมมันตภาพรังสีและไม่มีสารพิษตกค้าง

ศาสตราจารย์ Katti ชี้ว่าต้นทุนการรักษาด้วยวิธีนี้จะต่ำ เนื่องจากทองคำเพียงหนึ่งกรัมนั้นสามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ราว 50 คน นักวิจัยผู้นี้ยังบอกด้วยว่าการรักษาวิธีนี้จะสามารถนำไปใช้กับมะเร็งชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากมะเร็งตับได้ด้วย รวมทั้งโรคปวดตามข้อและโรคที่ทำให้อ่อนเพลียต่างๆ

โดยขั้นต่อไปจะเป็นการทดลองกับมนุษย์

หากวิธีที่กำลังทดลองอยู่นี้ใช้ได้จริง จะถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้คนทั่วโลกเกือบ 800,000 ต่อปี ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับ และอาจช่วยรักษาชีวิตของผู้ที่จากไปเพราะมะเร็งชนินี้ราว 700,000 คนต่อปี

(ผู้สื่อข่าว Carol Pearson รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)