การบำบัด 'มะเร็งทรวงอก' เเบบใหม่ ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตสูงขึ้น

A patient receives chemotherapy treatment for breast cancer at the Antoine-Lacassagne Cancer Center in Nice July 26, 2012.

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยพัฒนาการบำบัดมะเร็งทรวงอกวิธีใหม่

บรรดาเเพทย์ชี้ว่ามีปัจจัยหลักสองอย่างที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งทรวงอกรอดชีวิต ปัจจัยดังกล่าวคือการตรวจพบมะเร็งเเต่เนิ่นๆ และการบำบัดแบบตรงเป้า

ในปัจจุบัน เเพทย์ผ่าตัดต้องพึ่งการตรวจก้อนมะเร็งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก่อนที่จะนำตัวอย่างไปตรวจเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็ง เเต่การพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่อาจจะช่วยตรวจหาก้อนมะเร็งได้ตั้งเเต่ยังมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะเป็นประโยชน์ เพราะวิธีนี้จะช่วยลดความจำเป็นในการผ่าตัดก้อนมะเร็งหลายครั้ง

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเวสเติร์นออสเตรเลีย กำลังพัฒนาอุปกรณ์เอกซเรย์เเบบมือถือที่สามารถตรวจหาชิ้นส่วนเล็กๆ ของก้อนมะเร็งจากตัวอย่างเนื้อเยื่อหรือจากผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน

คริสโตเบิ้ล ซอนเดอร์ส ศัลยแพทย์หญิงมะเร็งทรวงอก กล่าวว่า อุปกรณ์นี้จะช่วยแพทย์ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งเเต่ยังมีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ซึ่งการตรวจเเบบได้ผลทันทีนี้ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน จึงถือว่าเป็นความก้าวหน้าในการตรวจหามะเร็งที่น่าตื่นเต้นมาก

อุปกรณ์นี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาในขั้นตอนของเครื่องต้นเเบบ แต่ทีมนักวิจัยในออสเตรเลียเปิดเผยว่า การทดลองในคนอาจจะเริ่มต้นได้ภายในสองปีข้างหน้า

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเมื่อค้นพบก้อนมะเร็งในทรวงอก ผู้ป่วยส่วนมากมักเข้ารับการฉายรังสี ข้อเสียของการบำบัดนี้อยู่ที่รังสีไปทำลายเนื้อเยื่อที่เเข็งเเรงในอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับก้อนมะเร็ง รวมทั้งหัวใจหากบำบัดมะเร็งในทรวงอกข้างซ้าย

แต่อุปกรณ์ฉายรังสีตัวใหม่ที่เรียกว่า Align RT ช่วยให้การฉายรังสีเป็นไปได้อย่างเเม่นยำและตรงเป้าหมาย เเม้ขณะที่ผู้ป่วยขยับตัวก็ตาม

เครื่องฉายเหนือศรีษะฉายภาพเเสงสีเเดงมีลวดลายแบบต่างๆ ลงบนร่างกายผู้ป่วย ในขณะที่กล้องถ่ายภาพที่ติดบนเพดานจะสร้างภาพสามมิติของร่างกายผู้ป่วยและคอยปรับขนาดลำรังสี ขณะที่ผู้ป่วยหายใจเข้าออกเเละขยับตัว

ผู้ป่วยสามารถมองเห็นภาพสามมิติทางหน้าจอที่ปรากฏให้ดูเพื่อช่วยให้ควบคุมการหายใจเข้าออก เพื่อให้การขยับขึ้นลงของทรวงอกอยู่ในระยะที่ปลอดภัยของลำเเสงรังสีระหว่างการบำบัด

อาลิสัน ยัง ผู้รอดชีวิตจากมะเร็งทรวงอก กล่าวว่า คนไข้สามารถควบคุมการสูดลมหายใจเข้าออกให้อยู่ในระดับที่พอดีกับระยะที่กำหนด เพื่อช่วยให้ลำเเสงรังสีฉายไปตรงจุดที่พบก้อนมะเร็งอย่างตรงเป้าหมาย

เธอกล่าวว่า เทคโนโลยีที่นำมาใช้นี้ทำให้คนไข้มีบทบาทช่วยให้การบำบัดทำได้อย่างเเม่นยำและมีประสิทธิภาพ

อุปกรณ์ฉายรังสี Align RT นี้มีใช้งานเเล้วในโรงพยาบาลมากกว่า 800 เเห่งทั่วโลก และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Royal Academy of Engineering’s MacRobert อีกด้วย

(รายงานโดย George Putic / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)