ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย California San Diego ชี้เเจงว่า วิธีตรวจเลือดที่ทีมงานพัฒนาขึ้นมานี้ถือได้ว่าเป็นการตรวจแบบครอบคลุมกระบวนการสองขั้นตอน เพราะนอกจากจะตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กำลังตายลงในกระเเสเลือดได้แล้ว ยังบอกได้ว่าเซลล์ที่ตรวจพบมาจากอวัยวะใดในร่างกาย
ในปัจจุบัน วงการเเพทย์ใช้วิธีตรวจเลือดหลายวิธีเพื่อช่วยตรวจหาร่องรอยของดีเอ็นเอที่ปล่อยออกมาจากเซลล์มะเร็งที่กำลังตายลง ซึ่งวิธีตรวจเลือดเหล่านี้ช่วยเเสดงให้เห็นประสิทธิผลของการบำบัดมะเร็ง
แต่ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย California San Diego ได้ค้นพบตัวบ่งชี้โรคตัวใหม่ โดยใช้ลักษณะเฉพาะตัวทางดีเอ็นเอของอวัยวะเเต่ละอวัยวะในร่างกายเป็นตัวช่วย เพื่อให้เเพทย์ระบุได้ว่าอวัยวะใดที่กำลังเกิดมะเร็ง
ซึ่งนี่จะทำให้วิธีตรวจเลือดวิธีใหม่นี้มีศักยภาพในการช่วยตรวจ เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งอย่างที่สงสัยหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการตรวจที่สร้างความเจ็บปวดเเก่ผู้ป่วย
ศาสตราจารย์ Kun Zhang คือผู้เชี่ยวชาญด้าน bioengineering แห่งมหาวิทยาลัย California San Diego ผู้ร่างรายงานอาวุโสของงานเขียนเกี่ยวกับผลการทดสอบวิธีการตรวจเลือดนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics ไปเมื่อเร็วๆ นี้
ศาสตราจารย์ Zhang กล่าวว่า ทางทีมงานได้พัฒนาวิธีการที่ช่วยระบุได้ว่ามีกำลังมีก้อนมะเร็งเกิดขึ้นในร่างกายผู้ป่วยและยังช่วยระบุได้ด้วยว่าก้อนมะเร็งกำลังเกิดขึ้นในอวัยวะใด
การตรวจเลือดช่วยคัดกรองหาดีเอ็นเอเฉพาะตัวที่เรียกว่า CpG methylation haplotype ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดในร่างกาย เมื่อมะเร็งกำลังก่อตัวเกิดขึ้นในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง มะเร็งจะเเย่งสารอาหารกับเซลล์ปกติของอวัยวะนั้นๆ ทำให้เซลล์ปกติตายลง ซึ่งเซลล์ที่ตายลงจะปล่อยดีเอ็นเอออกมาสู่กระเเสเลือด
การตรวจเลือดวิธีใหม่นี้สามารถตรวจพบดีเอ็นเอเฉพาะตัวที่เรียกว่า haplotype นี้ได้ และช่วยบอกแพทย์ได้ว่าเซลล์ในอวัยวะใดที่กำลังถูกทำลาย เนื่องจากมีเซลล์มะเร็งกำลังเติบโตเเละเเย่งสารอาหารจากเซลล์เเข็งเเรงในอวัยวะนั้นๆ
ศาสตราจารย์ Zhang กล่าวว่า การรู้จุดที่ตั้้งของก้อนมะเร็งมีความสำคัญมากในการช่วยตรวจพบมะเร็งและบำบัดรักษาเเต่เนิ่นๆ
ทีมนักวิจัยทีมนี้ได้สร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของดีเอ็นเอเฉพาะตัว CpG methylation ของเซลล์ปกติในอวัยวะต่างๆ ทั้งหมด 10 ลักษณะด้วยกัน ตั้งเเต่ปอด ตับ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมอง ตับอ่อน กระเพาะอาหาร ไต และเลือด
และเพื่อสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมนี้ ทีมนักวิจัยยังได้วิเคราะห์ตัวอย่างจากก้อนมะเร็งและเลือดของผู้ป่วยมะเร็งอีกด้วย โดยทีมงานได้ทำการตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย 59 คน ทั้งที่เป็นโรคมะเร็งปอดและมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผลการทดสอบที่ได้จากคนที่ไม่เป็นมะเร็ง
ศาสตราจารย์ Zhang กล่าวว่า การตรวจเลือดนี้นำไปใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งได้ เขาคิดว่าจะมีศักยภาพสูง แต่ทางทีมนักวิจัยทดลองใช้ตรวจผู้ป่วยอย่างจริงจังเสียก่อนอีกหลายครั้งที่จะไปถึงขั้นนำไปใช้งานจริงๆ
เขาคาดการณ์ว่าในอนาคต วงการเเพทย์จะใช้วิธีตรวจเลือดวิธีใหม่นี้ซึ่งช่วยคัดกรองหามะเร็งได้ระหว่างการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)