ดวงดาวนับล้าน ๆ ที่มองเห็นจากโลกในยามค่ำคืนอาจจะสว่างขึ้นอีกเล็กน้อยในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ส่ง “ดาวฤกษ์เทียม” ขึ้นสู่วงโคจรโลกสำเร็จ
โครงการใหม่ของนาซ่าที่มีชื่อว่า Landolt Mission มีแผนจะนำส่งดาวฤกษ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นสู่อวกาศในไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อใช้ในการวัดค่าความสว่างสัมบูรณ์ (absolute flux calibration) ของดาวฤกษ์ทั้งหลาย โดยศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินของภารกิจนี้จะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ในรัฐเวอร์จิเนีย
ภารกิจดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากการวิจัยค้นคว้าของ อาร์โล แลนดอลท์ นักดาราศาสตร์และผู้บุกเบิกด้านการจัดเก็บข้อมูลความสว่างของดาวฤกษ์ผู้ล่วงลับไปแล้ว
โครงการนี้จะทำการเปรียบเทียบความสว่างของดาวฤกษ์เทียมกับความสว่างของดาวฤกษ์จริง ๆ โดยจริง ๆ แล้วดาวฤกษ์สังเคราะห์ที่ว่านี้ก็คือ ดาวเทียมที่มีการติดอุปกรณ์เลเซอร์ 8 ชิ้นเข้าไปเพื่อโคจรรอบโลกเป็นระยะทาง 35,785 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลพอจะจำลองคุณลักษณะของดาวจริง ๆ ได้
แม้ดาวเทียมที่ว่าจะไม่ได้สว่างมากพอจนเห็นด้วยตาเปล่าได้ เราก็ยังจะสามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ส่วนบุคคล
และเพราะดาวเทียมนี้มีอัตราการปล่อยอนุภาคของแสง (photon) ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสามารถเปรียบเทียบความสว่างของแสงเลเซอร์กับความสว่างของดาวต่าง ๆ ได้ พร้อม ๆ กับปรับค่าการวัดความสว่างที่แม่นยำขึ้น และการจัดเก็บแคตตาล็อกข้อมูลความสว่างของดาวฤกษ์ชุดใหม่ไปด้วย
หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จดังหวัง ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีประโยชน์ใช้งานมากมาย เช่น การนำไปใช้เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์และองค์ประกอบของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ซึ่งเป็นที่ ๆ มนุษย์อาจย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตได้ โดยผลของการวัดที่แม่นยำจะยังนำไปสู่ฐานความรู้ที่ถ่องแท้ขึ้นเกี่ยวกับพลังงานมืด (dark energy) และอัตราการขยายตัวของจักรวาลก็เป็นได้
นอกจากนั้น โครงการนี้ยังอาจนำไปใช้เพื่อช่วยค้นหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกเพื่อให้มนุษย์ย้ายไปอาศัยอยู่ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ยังไม่มีการกำหนดวันที่จะส่งดาวฤกษ์เทียมนี้ขึ้นสู่อวกาศ แต่มีการคาดกันว่า น่าจะเกิดขึ้นในปี 2029
- ที่มา: วีโอเอ