ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดที่นำส่งกล้องเอ็กซ์เรย์ระยะไกลขึ้นสู่อวกาศเพื่อทำการสำรวจต้นกำเนิดของจักรวาล พร้อม ๆ กับนำส่งยานขนาดเล็กสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ขึ้นไปพร้อม ๆ กันด้วย
การปล่อยจรวดเอชทู-เอ (HII-A) ของญี่ปุ่นเกิดขึ้นที่ศูนย์อวกาศทาเนกาชิมา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และมีการถ่ายทอดสดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency – JAXA) ด้วย
และหลังถูกปล่อยจากฐานไปได้ 13 นาที จรวด HII-A ก็เข้าสู่วงโคจรโลกและปล่อยดาวเทียมที่มีชื่อว่า X-Ray Imaging and Spectroscopy Mission หรือ XRISM ออกไปทำหน้าที่ตรวจวัดความเร็วและองค์ประกอบทั้งหลายของกาแล็กซีต่าง ๆ
JAXA กล่าวว่า ข้อมูลที่ดาวเทียมดวงนี้จะจัดเก็บมานั้นจะช่วยในการศึกษาว่า วัตถุในห้วงอวกาศนั้นก่อตัวขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นส่วนที่หวังว่าจะช่วยไขปริศนาว่า จักรวาลของเรากำเนิดขึ้นมาได้อย่างไรต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า JAXA ทำงานร่วมกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ในการดำเนินแผนงานตรวจสอบกำลังของแสงของความยาวคลื่นต่าง ๆ รวมทั้งอุณหภูมิ รูปทรงและความสว่างของสิ่งของในอวกาศด้วย
เดวิด อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการของ Rice Space Institute จากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) เชื่อว่า ภารกิจล่าสุดของญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อการศึกษาเบื้องลึกลงไปในคุณสมบัติของพลาสมาร้อน หรือวัตถุที่มีความร้อนสูงมากซึ่งเป็นส่วนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นจักรวาลของเรา
และนอกจากดาวเทียมศึกษาจุดกำเนิดจักรวาลแล้ว จรวด HII-A ยังบรรทุกยานลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีน้ำหนักเบาและมีชื่อว่า Smart Lander for Investigating Moon หรือ SLIM ขึ้นไปด้วย โดย JAXA เปิดเผยว่า จะทำการโคจรรอบดวงจันทร์ระยะหนึ่ง ก่อนจะพยายามลงจอดบนดวงจันทร์ให้ได้ภายในต้นปีหน้า
ความพยายามส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ของญี่ปุ่นในครั้งนี้ เกิดขึ้นขณะที่กระแสการแข่งขันด้านกิจการอวกาศของโลกกำลังมุ่งไปสู่ความท้าทายด้านการสำรวจดวงจันทร์อยู่ โดยในเวลานี้ มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ไปถึงดวงจันทร์สำเร็จ ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย จีนและอินเดีย
โครงการสำรวจอวกาศของญี่ปุ่นนั้นประสบความล้มเหลวมาหลายครั้งแล้ว โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โครงการปล่อยจรวด H3 ต้องถูกยกเลิกเพราะปัญหาด้านเทคนิค ก่อนจะได้ปล่อยจริงในเดือนต่อมา แต่สุดท้ายก็ต้องมีการสั่งระเบิดตัวจรวดเพราะมีปัญหาในการจุดติดเครื่องยนต์ชั้นที่ 2
ญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มกลับมาประกาศคัดเลือกนักบินอวกาศเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี ซึ่งเป็นเหมือนการประกาศเป้าหมายของตนอย่างชัดเจนว่า จะส่งชาวญี่ปุ่นไปสู่ดวงจันทร์ให้ได้สักวัน
- ที่มา: เอพี