ภารกิจส่ง "ยานสำรวจอวกาศ Juno" เข้าสู่วงโคจรดาวพฤหัสบดี สำเร็จลุล่วง!

This artist's rendering shows NASA's Juno spacecraft making one of its close passes over Jupiter.

นาซ่าถ่ายทอดสดเหตุการณ์นี้ทางเว็บไซต์ของนาซ่าที่ www.nasa.gov ตั้งแต่เวลา 22.30 น. - 00.30 น.

Your browser doesn’t support HTML5

NASA_Juno

ในวันที่ชาวอเมริกันทั่วประเทศกำลังเฉลิมฉลองวันชาติอเมริกา คือวันที่ 4 ก.ค. องค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า ถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญ เมื่อยานสำรวจอวกาศ Juno เข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี เพื่อถ่ายภาพดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล ซึ่งอาจช่วยไขปริศนาการก่อกำเนิดของดวงดาว

ล่าสุดยาน Juno เข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดีเรียบร้อย เมื่อเวลา 23.55 น.

ยานสำรวจอวกาศพลังงานแสงอาทิตย์ Juno ล่องลอยในอวกาศมานาน 5 ปีแล้วและเดินทางไปแล้วเกือบ 2,000 ล้านไมล์ และในเวลา 23.18 น. ของวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. ตามเวลาในสหรัฐฯ ยาน Juno เริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่วงโคจรของดาวพฤหัสบดี หรือ Jupiter

เครื่องยนต์ของยาน Juno เริ่มจุดระเบิดเพื่อส่งให้ยานสำรวจลำนี้เข้าสู่วงโคจรของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาลดวงนี้ โดยใช้เวลาทั้งหมดราว 35 นาที

เมื่อเข้าสู่วงโคจรแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าคาดว่ายาน Juno จะวนรอบดาวพฤหัสบดีทั้งหมด 37 รอบ ในช่วงเวลา 20 เดือนจากนี้ และอาจมีบางจังหวะที่เข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีประมาณ 4,800 กม. จากพื้นผิวของดาว

ดาวพฤหัสบดีหรือ Jupiter มีก๊าซฮีเลียมและไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหลัก ต่างจากโลกของเราที่ส่วนใหญ่เป็นหิน เว็บไซต์ของนาซ่าระบุว่า การโคจรรอบขั้วเหนือและขั้วใต้ของดาวพฤหัสบดี จะช่วยเปิดเผยเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของดาวยักษ์สีแดงดวงนี้ได้มากขึ้น

คุณ Scott Bolton ผู้นำภารกิจครั้งนี้ จัดประชุมแถลงข่าวที่ห้องทดลองขององค์การนาซ่า ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ในวันจันทร์ โดยบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่นาซ่าจะสามารถหาคำตอบเกี่ยวกับการก่อกำเนิดของระบบสุริยะจักรวาล แต่ยาน Juno กำลังพยายามค้นหาร่องรอยหรือหลักฐานในเรื่องนี้

นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ชี้ว่า ในช่วงเริ่มแรก ยาน Juno จะค้นหาสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ดวงนี้ จากนั้นจึงค้นหาแหล่งรังสีต่างๆ พร้อมไปกับการตรวจสอบวงแหวนเศษซากวัตถุอวกาศที่ล่องลอยอยู่รอบๆ ดาวพฤหัสบดี

ด้านคุณไฮดี เบคเกอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของนาซ่า ระบุว่าส่วนที่ยากที่สุดสำหรับภารกิจนี้คือการหลบเลี่ยงซากวัตถุอวกาศที่ล่องลอยด้วยความเร็วสูงรอบดาวพฤหัสบดี เพราะหากยาน Juno ปะทะกับวัตถุเหล่านี้ก็อาจเสียหายได้ทันที

อย่างไรก็ตาม นาซ่าค่อนข้างมั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ควบคุมที่เปรียบเสมือนสมองของยาน Juno ซึ่งผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin เคลือบด้วยแร่ไทเทเนียมและมีความหนาราวครึ่งนิ้วจะสามารถต้านทานแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง

ภารกิจสำรวจดาว Jupiter มีมูลค่าทั้งหมดราว 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ยาน Juno จะมุ่งตรงดิ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี เพื่อให้เกิดการเผาไหม้จนหมดไป และไม่กลายเป็นขยะอวกาศอีกชิ้นหนึ่ง

ทางองค์การนาซ่าถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญนี้ทาง NASA TV ซึ่งรับชมผ่านทางเว็บไซต์ของนาซ่าที่ www.nasa.gov ตั้งแต่เวลา 22.30 น. เป็นต้นไป ตามเวลาในสหรัฐฯ

(ผู้สื่อข่าว Carol Guensburg รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)