15 ปีที่แล้ว องค์การอวกาศสหรัฐ NASA ได้ส่งยานอวกาศแบบไร้นักบินชื่อ Stardust สู่ห้วงจักรวาลเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นส่วนดาวหางและฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศ ตัวอย่างของฝุ่นอวกาศดังกล่าวเดินทางกลับมาถึงโลกเมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งการศึกษาฝุ่นละอองจากนอกโลกเหล่านั้นอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงปริศนาการก่อกำเนิดของห้วงจักรวาลได้มากขึ้น
กระป๋องบรรจุฝุ่นอวกาศที่ส่งมาจากยาน Stardust ตกมาถึงพื้นโลกเมื่อปี ค.ศ 2006 บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ หลังจากนำตัวอย่างฝุ่นนั้นมาศึกษานานหลายปี นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าฝุ่นดังกล่าวอาจมาจากนอกระบบสุริยะจักรวาล
ในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Science นักฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์คลี่ย์ Andrew Westphal ระบุว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ ฝุ่นอวกาศเหล่านี้ไม่เหมือนกันเลย แต่ละอนุภาคมีความแตกต่างอย่างน่าประหลาด แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและซับซ้อนของอนุภาคต่างๆ ในจักรวาล โดยแต่ละอนุภาคนั้นมีขนาดเล็กว่าเม็ดทรายเกิน 1,000 เท่า
ในกระบวนการค้นหาฝุ่นอวกาศที่ติดมาในกระป๋องจากยาน Stardust มีนักวิทยาศาตร์สมัครเล่นเข้าร่วมโครงการกว่า 32,000 คนจากทั่วโลก โดยใช้การค้นหาด้วยเครื่องมือพิเศษที่พัฒนาให้สามารถติดตั้งผ่านเว็บไซต์ได้ จากการค้นหาวิเคราะห์กว่า 100 ล้านครั้ง ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์จำแนกฝุ่นอวกาศออกมาได้ 7 อนุภาค ซึ่งแม้จะเล็กแทบมองไม่เห็น แต่ก็มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการไขปริศนาการก่อกำเนิดของจักรวาล
นักวิทยาศาสตร์ Andrew Westphal บอกว่าขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบไอโซโทปของธาตุอ็อกซิเจนในฝุ่นอวกาศนั้นว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่สอดคล้องก็หมายความว่าฝุ่นอวกาศนั้นอาจมาจากนอกระบบสุริยะจักรวาล
รายงานจาก Rosanne Skirble ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล