'วิเคราะห์ผลกระทบ' เมื่อสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่อเมียนม่าร์

MYANMAR METALS & MINERALS

Your browser doesn’t support HTML5

Myanmar Sanction

บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจอเมริกัน แสดงความยินดีกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเมียนม่าร์ โดยเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจเมียนม่าร์ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเมียนม่าร์ได้

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองเชื่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนี้ คือการเพิ่มความรับผิดชอบให้กับรัฐบาลเมียนม่าร์ ในการปราบปรามปัญหาคอรัปชั่นและยาเสพติดภายในประเทศ

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบาม่า กล่าวภายหลังพบหารือกับนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและ รมต.ต่างประเทศของเมียนม่าร์ ที่ทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่อเมียนม่าร์ในเร็ววันนี้

ซึ่งรวมถึงการถอดชื่อนักธุรกิจเมียนม่าร์กว่า 100 คนที่มีความสัมพันธ์กับอดีตรัฐบาลทหารของเมียนม่าร์ ออกจากบัญชีดำของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และยกเลิกการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมหยกและอัญมณีของเมียนม่าร์ด้วย

มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ใช้กับเมียนม่าร์มา 20 ปี กีดกันบริษัทอเมริกันและนักลงทุนต่างชาติไม่ให้ใช้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ในการทำธุรกรรมกับปัจเจกบุคคลหรือบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารของเมียนม่าร์ในอดีต และครอบครองเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของเมียนม่าร์ผ่านทางการค้า การธนาคาร อุตสาหกรรม การเกษตร การคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยว

นับเป็นมาตรการที่ขัดขวางการลงทุนในตลาดของประเทศที่ถือเป็นพรมแดนสุดท้ายของเอเชีย และยังกีดกันการส่งออกสินค้าจากเมียนม่าร์มายังอเมริกา

ในช่วง 20 ปีระหว่างการใช้มาตรการลงโทษต่อเมียนม่าร์ จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับเมียนม่าร์ ขณะที่การลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ

คุณ Pwint San นักธุรกิจและอดีตรอง รมต.พาณิชย์เมียนม่าร์ เชื่อว่าเมื่อสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทั้งหมดต่อเมียนม่าร์ เศรษฐกิจเมียนม่าร์จะขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม บริษัทอเมริกันจะเข้าไปลงทุนในเมียนม่าร์มากขึ้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก็จะเพิ่มขึ้น และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศก็จะคล่องตัวยิ่งขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ของเมียนม่าร์เชื่อว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอของเมียนม่าร์จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากเรื่องนี้ โดยก่อนที่จะมีการใช้มาตรการลงโทษ เมียนม่าร์ส่งออกไปยังตลาดอเมริกาถึง 65%

ด้าน ดร. Sean Turnell นักเศรษฐศาสตร์ที่ ม. Macquarie ที่นครซิดนีย์ และที่ปรึกษาคนสำคัญของนางซูจี เชื่อว่าการยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมด คือการเปิดโอกาสให้มีการลงทุนจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการยกระดับมาตรฐานการทำงานของบริษัทธุรกิจต่างๆ

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนเชื่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งนี้ คือการเพิ่มความรับผิดชอบให้กับรัฐบาลเมียนม่าร์ ให้เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนพยายามปราบปรามปัญหาคอรัปชั่นและยาเสพติดภายในประเทศ

ทางด้านองค์กรต่อต้านการคอรัปชั่น Global Witness ระบุว่ารัฐบาลเมียนม่าร์ซึ่งนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยังมีเรื่องต้องทำอีกมากในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจเมียนม่าร์ยุคใหม่ โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมหยกและอัญมณี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเมียนม่าร์ไม่มีเครื่องมือในการกดดันกองทัพ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปในเมียนม่าร์ต่อไปในอนาคต

ส่วนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กล่าวตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าตัดสินใจเร็วเกินไป เนื่องจากกองทัพเมียนม่าร์ยังคงมีอำนาจอย่างมากในทางการเมือง และการปฏิรูปก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนเชื่อว่า บรรดาเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ของเมียนม่าร์คือผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการยกเลิกมาตรการลงโทษครั้งนี้ โดยที่อาจไม่ตกมาถึงประชาชนมากนัก

(ผู้สื่อข่าว Paul Vrieze รายงานจากนครย่างกุ้ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)