สื่อเมียนมาจัดตั้งสภาอิสระทำหน้าที่ปกป้องผู้สื่อข่าว

  • VOA

แฟ้มภาพ - นักเคลื่อนไหวผู้เรียกร้องเสรีภาพสื่อในเมียนมาและนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวร่วมกันถือป้ายเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ เมื่อ 16 ก.ย. 2561

องค์กรสื่ออิสระในเมียนมาร่วมกันจัดตั้งสภาผู้สื่อข่าวแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นสัญญาณบวกที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของสื่อในประเทศนี้ที่สามารถลุกฟื้นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ของตนได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ตั้งของสภาแห่งใหม่ที่ชื่อว่า Independent Press Council Myanmar (IPCM) โดยมีการระบุเพียงว่า ตั้งอยู่ในประเทศไทยและเปิดทำการมาตั้งแต่ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมเสรีภาพของสื่อและยกระดับการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่อยู่ในเมียนมา

นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน สภาพการทำงานของสื่อในประเทศนี้ถดถอยลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ ผู้สื่อข่าวและหน่วยงานสื่อต่าง ๆ ตกเป็นเป้าการจับกุมตามอำเภอใจโดยทางเมียนมาด้วย

ในรายงานการจัดอันดับโดย Committee to Protect Journalist ที่ตีพิมพ์ออกมาในวันพฤหัสบดี เมียนมาถูกจัดให้เป็นผู้ที่จับกุมคุมขังผู้สื่อข่าวที่เลวร้ายเกือบที่สุด (second-worst jailer) แล้ว

ทั้งนี้ IPCM ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางจำนวน 10 คนขึ้นมาซึ่งรวมถึง ประธานที่มาจากการเลือกตั้ง เลขาธิการและเหรัญญิก โดยมีแผนจะแต่งตั้งกรรมการกลางให้ได้ 15 คนที่จะมีทั้งตัวแทนจากองค์กรสื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ นักกฎหมายด้านสื่อ ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และนักข่าวพลเมืองด้วย

ในการประชุมจัดตั้งสภาแห่งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 77 คน โดยมีตัวแทนสื่อเมียนมามาร่วม 38 คน

แฟ้มภาพ -- ภาพของ โทรุ คุโบตะ ผู้สื่อข่าวชาวญี่ปุ่นที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเมียนมา ระหว่างรายงานข่าวการประท้วง ถูกฉายขึ้นจอที่สโมสรสื่อญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว เมื่อ 3 ส.ค. 2565

นาน พอฟว์ เกย์ บรรณาธิการใหญ่ของสื่อ Karen Information Center ได้รับเลือกเป็นประธาน IPCM โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่า ประธานคนแรกของสภาสื่อแห่งนี้กล่าวย้ำถึงความจำเป็นของการมีหน่วยงานใหม่นี้ ว่าเป็นเพราะคำกล่าวหาจากตัวแทนสื่อรัฐบาลทหารเมียนมาที่มักชี้ว่า สื่อที่ทำงานเพื่อสาธารณชนนั้นทำการเผยแพร่ข่าวเท็จ

สภา IPCM นั้นเปิดรับสมาชิกเฉพาะตัวแทนจากสื่ออิสระเท่านั้น ดังนั้น สื่อรัฐหรือสื่อที่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม

เซดริก อัลวิเอนิ ผู้อำนวยการสำนักงานเอเชียตะวันออกขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Border) บอกกับวีโอเอว่า การก่อตั้งสภาแห่งนี้ถือเป็นก้าวย่างที่ส่งสัญญาณบวกอย่างมาก โดยระบุว่า “การจัดตั้ง IPCM ซึ่งเป็นองค์กรที่มีกฎบัตรด้านจริยธรรมและการกำกับดูแลที่อิงตามระบอบประชาธิปไตย ... แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งอันน่าเหลือเชื่อของผู้สื่อข่าวพม่า ท่ามกลางสภาวะการปราบปรามอันไร้ปราณีของรัฐบาลทหารต่อเสรีภาพของสื่อและต่อสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”

ส่วน ติน ติน เนียว กรรมการผู้จัดการของ Burma News International บอกกับวีโอเอว่า IPCM คือองค์กรที่จะช่วยมอบอำนาจให้กับผู้สื่อข่าวและจะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารอีกด้วย

นับตั้งแต่ กองทัพเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2021 สื่อต่าง ๆ ในประเทศได้ตกเป็นเป้าของทางการมาโดยตลอด และมีสื่ออย่างน้อยหลายสิบแห่งถูกถอนใบอนุญาตไปแล้ว ขณะที่ ผู้สื่อข่าวหลายร้อยคนก็ถูกจับกุมตัวไป โดยมี 43 คนที่ยังคงอยู่ในเรือนจำเมียนมาในเวลานี้

  • ที่มา: วีโอเอ