นักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนไหวของไทยในการจัดการประชุมพบปะอย่างไม่เป็นทางการเรื่องเมียนมาในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อดึงเมียนมาให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนอีกครั้ง ดูจะเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับจีน พันธมิตรของกองทัพเมียนมา
การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา ที่พัทยา ฝั่งเมียนมาได้ส่ง ตาน สเว รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 เป็นผู้เข้าร่วมประชุม ในขณะที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม
หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนได้ตกลงที่จะห้ามไม่ให้นายพลเมียนมาเข้าร่วมการประชุมของอาเซียน จนกว่าผู้นำทหารเมียนมาจะแสดงให้เห็นว่าได้มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม "ฉันทามติ 5 ข้อ" (five-point concensus) ของอาเซียน ที่กลุ่มประเทศสมาชิกให้ความเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน 2021 เพื่อยุติความรุนแรงภายในประเทศที่ปะทุขึ้นตั้งแต่มีการยึดอำนาจ ที่นำไปสู่การเดินขบวนประท้วง กระบวนการอารยะขัดขืน และการต่อสู้ภายในประเทศ
พอล แชมเบอรส์ (Paul Chambers) อาจารย์และที่ปรึกษาด้านวิเทศสัมพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวกับวีโอเอไทยว่า จีนเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเมียนมามากเป็นอันดับสองรองจากรัสเซีย ดังนั้นรัฐบาลกรุงปักกิ่งจึงอาจต้องการให้รัฐบาลทหารเมียนมาสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา และท่อส่งพลังงานที่เชื่อมต่อเมียนมาและจีน
อ.แชมเบอรส์ ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยซึ่งใกล้ชิดกับจีนทั้งในทางการทูตและทางภูมิศาสตร์ ได้พยายามที่จะผลักดันให้เกิดความสงบเรียบร้อยเช่นกัน โดยกล่าวว่า “รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ต้องการที่จะให้จีนมีส่วนร่วมในการเจรจาของสมาชิกอาเซียนในเรื่องที่เกี่ยวกับเมียนมา”
เสก โสพาล (Sek Sophal) นักวิจัยประจำศูนย์ Democracy Promotion Center ของมหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าจีนเป็นผู้เล่นสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับเมียนมา
โสพาลกล่าวว่า รัฐบาลไทยยังคงมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาอย่างต่อเนื่องราวกับว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” และได้ทำ “น้อยมาก” ที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
เมื่อวีโอเอสอบถามไปยังสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันเรื่องการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สถานทูตจีนในกรุงวอชิงตันกล่าวว่าไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าว และให้สอบถามไปยังสถานทูตจีนในเมียนมา หรือในไทย ซึ่งทางวีโอเอไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน
ทางด้านสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในอีเมล์ถึงวีโอเอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “เช่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ (แอนโทนี บลิงเคน) ได้กล่าวไว้แล้ว ว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ความรุนแรงอย่างใหญ่หลวงเป็นวงกว้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อชาวพม่าตั้งแต่ก่อการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังกล่าวต่อว่า “เราตระหนักถึงและยินดีที่ได้เห็นความพยายามของอาเซียนที่จะแก้ไขวิกฤติในพม่า แต่จากการที่รัฐบาลทหารพม่าไม่มีความคืบหน้าในเรื่อง 'ฉันทามติ 5 ข้อ' เราจึงขอให้สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนทำให้พม่ารับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อกระทรวงกลาโหมของเมียนมาและธนาคารของเมียนมาที่รัฐเป็นเจ้าของสองแห่ง คือ Myanmar Foreign Trade Bank และ Myanmar Investment and Commercial Bank
มาตรการดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการสั่งระงับการดำเนินการทางทรัพย์สินของหน่วยงานที่ถูกลงโทษที่อยู่ในสหรัฐฯ หรือที่ควบคุมโดยชาวอเมริกัน มาตรการลงโทษที่ว่านี้ยังได้ห้ามไม่ให้บุคคลหรือหน่วยงานของสหรัฐฯ ทำธุรกรรมใด ๆ ทั้งภายในสหรัฐฯ หรือผ่านสหรัฐฯ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานเมียนมาที่ถูกคว่ำบาตร
อ.แชมเบอรส์ แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าสหรัฐฯ อาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมา และทำงานร่วมกับประเทศอาเซียนที่เป็นปฏิปักษ์กับเมียนมา เช่น อินโดนีเซีย เพื่อช่วยชะลอความร่วมมือระหว่างไทยและผู้นำทหารเมียนมาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้
เขากล่าวว่า “สหรัฐฯ รับรู้ว่า ตั้งแต่ปี 2556 ประเทศไทยได้ใช้นโยบายที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ในการคานอำนาจ หรือ ‘สร้างสมดุล’ ระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงวอชิงตัน”
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ไทยมีนโยบายการต่างประเทศที่เอนเอียงเข้าหาจีนตลอดระยะเวลา 9 ปีของการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชัยชนะของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา แปลว่าไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในเดือนกรกฎาคมนี้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หนัาหน้าพรรคก้าวไกลเป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทย ที่ผ่านมา พิธา ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ Harvard และ MIT ได้กล่าวว่าเขาจะปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการต่างประเทศของไทย รวมไปถึงจุดยืนเรื่องเมียนมาด้วย
ในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับวีโอเอไทยในเดือนเมษายน พิธากล่าวว่า “เมียนมาที่มั่นคงนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาค แต่หากเมียนมาจาม ประเทศไทยก็จะติดหวัดไปด้วย”
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า นักการเมืองไทยต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน หากพิจารณาถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และอิทธิพลของจีนที่มีมากขึ้นในนโยบายการต่างประเทศของไทย
โสพาลกล่าวว่า “ประเทศไทยอาจจะต้องไปต่อกับจีนด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ” ถึงแม้ว่าไทยจะ ปรับนโยบายการต่างประเทศเสียใหม่เพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศตะวันตกที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำก็ตาม
ด้าน อ.แชมเบอรส์ กล่าวว่า ประเทศไทยภายใต้การนำของพิธา จะนำประเทศออกห่างจากจีน ทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับสหรัฐฯ และยุติความร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมา
- ข้อมูลบางส่วนจาก Jina Ham และ Christy Lee จากภาคภาษาเกาหลี