Your browser doesn’t support HTML5
องค์กร Global Witness ระบุว่า อุตสาหกรรมหยกของพม่าทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศ
คำถามที่สำคัญคือใครเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากอุตสาหกรรมที่ว่านี้?
ในรายงานที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว Global Witness ประมาณว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมหยกของพม่าอาจมากกว่าการค้าฝิ่นถึง 10 เท่าตัว แต่ไม่เป็นที่รู้อย่างแน่ชัดว่าตัวเลขนี้จริงเท็จเพียงใด เพราะเรื่องการค้าหยกเป็นความลับในพม่า
Juman Kubba นักวิเคราะห์คนหนึ่งของ Global Witness บอกว่าการประมาณดังกล่าวเป็นตัวเลขดีที่สุดในเวลานี้ และว่าอยากจะให้มีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้มากขึ้น
รายงานของ Global Witness กล่าวหาว่า การค้าหยกในพม่า ส่วนใหญ่เป็นผลประโยชน์ของผู้ทรงอิทธิพล เช่น อดีตผู้เผด็จการทหาร พลเอก Than Shwe ผู้ทรงอิทธิพลทางการทหารปัจจุบัน และนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ
Juman Kubba บอกกับ VOA ว่า รัฐบาลพม่ามีรายได้จากการค้าหยกน้อยมาก ทางฝ่ายชาวรัฐคะฉิ่น เช่นพันเอก James Lum Dau แห่ง Kachin Independence Orgnization ซึ่งเป็นฝ่ายกบฎที่กำลังต่อสู้กับรัฐบาลพม่า เชื่อว่าส่วนหนึ่งของรายได้จากการค้าหยก ถูกทางการทหารนำไปใช้ในการต่อสู้ปราบปรามฝ่ายกบฎ
อย่างไรก็ตาม รายงานของ Global Witness ระบุไว้ด้วยว่า ฝ่ายกบฎก็ได้เงินจากการค้าหยกเช่นกัน ซึ่งนายทหารฝ่ายกบฎผู้นี้ยอมรับว่า มีการจัดเก็บภาษีจากนักธุรกิจ แต่เป็นเงินจำนวนน้อย
Juman Kubba นักวิเคราะห์ของ Global Witness เสนอแนะว่า สหรัฐควรกดดันพม่าในเรื่องนี้ เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องการค้าหยกให้เป็นที่ทราบมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพม่าได้อย่างจริงจัง
นักวิเคราะห์ของ Global Witness ชี้ว่าหยกและทรัพยากรธรรมชาติ ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับฝ่ายกบฎด้วย
นักต่อสู้เคลื่อนไหวคนอื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการขุดหาหยกเพิ่มขึ้นมากในขณะนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะความวิตกกังวลว่า การเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าได้