พิธีลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 8 กลุ่มที่กรุงเนปิดอว์มีขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการเลือกตั้งใหญ่ของพม่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ย ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีการปฏิรูปการเมืองขึ้นในพม่า
ปธน.พม่า เต็ง เส่ง กล่าวในพิธีลงนาม ยกย่องข้อตกลงฉบับนี้ว่าเป็นเสมือนของขวัญแก่ประชาชนพม่ารุ่นหลัง และกล่าวว่ามีทหารหลายหมื่นคนที่เสียชีวิตจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆในพม่า และมีประชาชนหลายแสนคนที่ทนทุกข์ทรมานจากการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งตนเชื่อว่าข้อตกลงหยุดยิงฉบับนี้จะช่วยให้พม่ามุ่งไปสู่เส้นทางแห่งสันติภาพได้ในที่สุด และหวังว่ากองกำลังกลุ่มอื่น รวมทั้งกลุ่มคะฉิ่นและว้า ซึ่งมีนักรบหลายหมื่นคน จะยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงนี้ด้วยในอนาคต
เมื่อเดือนที่แล้ว ชนกลุ่มน้อย 10 กลุ่มออกมาประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมในข้อตกลงหยุดยิง รวมถึง United Wa State Army ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังใหญ่ที่สุดของพม่า และองค์กรปลดปล่อยชาวคะฉิ่น ที่ครอบครองดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า
ปัจจุบัน มีประชากรพม่าราว 40% ที่เป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการครอบครองสิทธิ์เหนือทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่ตนครอบครองอยู่
ในพิธีลงนามครั้งนี้ ซอว์ มูตู เซ โพ หัวหน้าสหพันธ์กะเหรี่ยงแห่งชาติ หรือ KNC ที่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงด้วย แนะนำให้รัฐบาลพม่าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยในประเทศ ด้วยการเจรจาแทนการใช้กำลัง
กลุ่ม KNC คือกองกำลังกะเหรี่ยงที่ต่อสู้กับทหารพม่ามา 60 ปีแล้ว และถือเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่และสำคัญที่สุดที่ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ ร่วมกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยอื่นๆอีก 7 กลุ่มซึ่งส่วนใหญ่ครองพื้นที่อยู่ตามแนวพรมแดนไทย-พม่า
ข้อตกลงหยุดยิงฉบับนี้กำหนดให้เริ่มมีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆภายใน 90 วัน แต่มิได้บังคับให้ทุกกลุ่มต้องปลดอาวุธ
ทางรัฐบาลสหรัฐฯแสดงความยินดีต่อการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง เพราะถือว่าเป็นก้าวสำคัญไปสู่สันติภาพในพม่า แต่ยังแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่ทหารพม่าบุกโจมตีพื้นที่ในเขตรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกว่า 1 แสนคนในพื้นที่เหล่านั้น
สำหรับข้อตกลงหยุดยิงฉบับนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ ปธน.เต็ง เส่ง ผู้ขึ้นสู่ตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ 2011 หลังจากรัฐบาลทหารพม่าปกครองประเทศมาตลอด 50 ปี
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคะแนนเสียงพรรครัฐบาลของพม่าจะถูกท้าทายจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี ในการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย แม้ว่าตัวนางซูจีเองได้ถูกกันไม่ให้เป็น ปธน.ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารพม่า
(Steve Herman รายงานมาจากศูนย์ข่าววีโอเอประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-กรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)