Your browser doesn’t support HTML5
หนึ่งวันหลังการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในพม่า ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD นางอองซาน ซูจี กล่าวต่อผู้สนับสนุนพรรคเธอ แสดงความมั่นใจว่าพรรค NLD คือผู้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ นางซูจีกล่าวว่าแม้จะยังไม่มีการประกาศผลเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าทุกคนคงพอจะเดาได้ว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร
ทางโฆษกพรรค NLD กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า จากผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการคาดว่าพรรค NLD ชนะ 70% ของที่นั่งทั่วประเทศ
นักวิเคราะห์ชี้ว่าพรรค NLD ของนางซูจี จำเป็นต้องได้ที่นั่งอย่างน้อย 67% ของรัฐสภา เพื่อที่จะสามารถเอาชนะอำนาจวีโต้ของผู้แทนทหารพม่าในสภาฯ ที่ทำหน้าที่เสนอชื่อประธานาธิบดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญของพม่ากำหนดที่นั่ง 25% ในรัฐสภา ไว้ให้กับผู้แทนจากกองทัพ
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งเชื่อว่า กว่าจะสามารถนับคะแนนทั้งหมดจากบัตรเลือกตั้งราว 32 ล้านใบได้ คงต้องใช้เวลาจนถึงวันอาทิตย์หน้า
ด้านนาย Htay Oo ประธานพรรครัฐบาล Union Solidarity Development Party หรือ USDP ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่าตนพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และว่าพรรครัฐบาลเสียที่นั่งในสภาไปเป็นจำนวนมาก นักการเมืองอีกผู้หนึ่งที่พ่ายแพ้อย่างพลิกความคาดหมายคือ อดีตประธานรัฐสภาจากพรรค USDP นาย Shwe Mann ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับคาดหมายว่าอาจจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของพม่า
บรรดาผู้สังเกตุการณ์และนักวิเคราะห์การเมืองพม่าต่างมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างสงบ Phil Robertson แห่งองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Right Watch กล่าวว่าหลังจาก 25 ปีแห่งการปกครองระบอบทหาร ในที่สุดประชาชนพม่าก็มีโอกาสแสดงออกทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าใครควรเป็นผู้บริหารประเทศ แต่คำถามสำคัญต่อมาก็คือ ผลการเลือกตั้งที่จะมีการประกาศในเร็ววันนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่
ด้านคุณ Mark Green แห่งสถาบัน International Republican ชี้ว่าแน่นอนไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ รวมทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย แต่ทั้งนี้ชาวพม่าจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการหรือไม่ นักวิเคราะห์ผู้นี้ชี้ว่าหากชาวพม่าเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปอย่างถูกต้องและสะท้อนเจตจำนงของพวกเขา ก็ถือว่ากระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยของพม่า
ด้านองค์กร Asian Network for Free Elections ระบุว่าปัญหาใหญ่ที่พบคือ มีชื่อของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากที่สูญหายไปจากรายชื่อหน้าคูหา
Your browser doesn’t support HTML5
ก่อนหน้านี้ รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ยังมีผู้ที่ถูกกีดกันไม่ให้ลงเลือกตั้งจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐยะไข่ โดยมีชาวพม่าราว 800,000 คนที่เคยใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ 2010 และ 2012 ถูกยกเลิกการต่ออายุใบลงทะเบียนชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งในจำนวนมีทั้งคนเชื้อสายจีนและอินเดียรวมอยู่ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงจะ
เวลานี้บรรดาชาวมุสลิมโรฮิงจะจำนวนมากต่างเฝ้ารอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลายคนหวังว่าหากนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีต่อพวกเขา โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง
แต่ในการหาเสียงที่ผ่านมา นางซูจีมิได้พูดถึงการแก้ปัญหาของชาวมุสลิมโรฮิงจะ ขณะที่ทางพรรค NLD ก็ระบุว่ายังไม่มีแผนที่ชัดเจนเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ดังกล่าว
และในที่สุดแล้ว ดูเหมือนชาวโรฮิงจะจำนวนมากจะไม่สามารถรอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ และเตรียมจะล่องเรือออกสู่ทะเลเพื่อลี้ภัยออกจากพม่าหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอ)