'อเมริกันมุสลิม' กลุ่มประชากรที่มีอิทธิพลมากขึ้นต่อเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ

  • VOA

ชาวอเมริกันมุสลิมร่วมทำพิธีทางศาสนาในวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ที่นครลอสแอนเจลีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2024

ปัจจุบัน มีประชากรในสหรัฐฯ ที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ถึง 2% ของประชากรทั้งหมด แต่กลุ่มชาวมุสลิมเหล่านี้กลับมีอิธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการเลือกตั้งในสหรัฐฯ รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

สภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม หรือ CAIR (Council on American-Islamic Relations) ประเมินว่า มีชาวอเมริกันมุสลิมมากกว่า 2.2 ล้านคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อสองปีก่อน มากกว่า 1 ล้านคน

ที่เมืองบริดจ์วิว ชานนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ มีย่านซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ลิตเติลปาเลสไตน์" ซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าของชาวมุสลิม รวมถึงร้านกาแฟหลายแห่ง

ดีแอนนา อ็อธแมน คุณครูที่โรงเรียนมุสลิมแห่งหนึ่งในเมืองนี้ กล่าวว่า ที่นี่สามารถพบเห็นชาวมุสลิมได้ทั่วไป และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงในอีกหนึ่งเดือนกว่า ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับเธอคือการยุติสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส

อ็อธแมน กล่าวว่า "คนที่เธอจะเลือกคือผู้ที่แสดงความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะยุติการสังหารล้างเผ่าพันธุ์นี้ได้ในทันที" ซึ่งชาวมุสลิมส่วนใหญ่ใน "ลิตเติลปาเลสไตน์" ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

สงครามในฉนวนกาซ่าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลและสังหารประชาชน 1,200 คน รวมทั้งจับกุมตัวประกันราว 250 คน ทำให้อิสราเอลต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารในกาซ่าและสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วกว่า 41,000 คน

ปัจจุบัน รัฐอิลลินอยล์มีชาวอเมริกันที่เป็นมุสลิมราว 475,000 คน หรือราว 3.7% ของประชากรมุสลิมทั้งหมดในสหรัฐฯ และที่เขตปกครองคุ้กเคาน์ตี ไม่ไกลจากนครชิคาโก มีชุมชนชาวปาเลสไตน์ขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าส่วนใหญ่พวกเขาจะโหวตให้กับพรรคเดโมแครต

ทาบิธา โบนิลา ผช.ศ.ด้านนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์น กล่าวว่า "โดยปกติแล้วชาวมุสลิมในรัฐอิลลินอยล์จะไม่เลือกพรรคอื่น ซึ่งต่างจากบางรัฐ อย่างเช่น มิชิแกน ที่คาดว่ามีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นมุสลิมอยู่ราว 200,000 คน และหากเปรียบเทียบแล้ว ความแตกต่างระหว่างคะแนนเสียงของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 150,000 คน ดังนั้นหากว่าชาวอเมริกันมุสลิมเหล่านั้นตัดสินใจไม่เลือกพรรคเดโมแครต นั่นอาจสร้างความแตกต่างในรัฐที่ผู้สมัครมีคะแนนสูสีกันมาก อย่างรัฐมิชิแกน ได้เช่นกัน"

Muslims in America

ทางด้าน เลย์ลา เอลาเบด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อชุมชนชาวปาเลสไตน์ในอเมริกา และยังเป็นน้องสาวของ ส.ส.หญิงอเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์ ราชิดา ทลาอิบ กล่าวว่า มีประชาชนในมิชิแกนที่ได้รับผลกระทบจากความช่วยเหลือด้านอาวุธที่สหรัฐฯ ส่งให้กับอิสราเอล

เอลาเบด กล่าวว่า "เราต้องการการเปลี่ยนแปลง การปรับทิศทางนโยบายในปัจจุบัน และการนำนโยบายใหม่มาใช้เพื่อรักษาชีวิตชาวปาเลสไตน์และยุติการยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์"

ส่วน คีธ เอลลิสัน อัยการรัฐมินเนโซตา และเคยเป็นหนึ่งในชาวมุสลิมที่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ชี้ว่า "เวลานี้ชุมชนชาวมุสลิมในเกือบทุกรัฐ ไม่ใช่แค่มิชิแกน ต่างมีความกระตือรือร้นมากขึ้นและมีส่วนร่วม (ทางการเมือง) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

อดีต ส.ส.รัฐมินเนโซตาผู้นี้ กล่าวว่า "ชุมชนชาวอเมริกันมุสลิมกำลังมีอิทธิพลทางการเมืองเข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเมื่อก่อน และกำลังทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นเรื่อย ๆ "

ขณะที่ ดีแอนนา อ็อธแมน คุณครูโรงเรียนมุสลิมที่เมืองบริดจ์วิว กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ไม่ต้องการโหวตให้พรรคใดพรรคหนึ่งระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน และเธอเชื่อว่า น่าจะมีตัวเลือกในบัตรลงคะแนนมากกว่านี้

  • ที่มา: วีโอเอ